ส่อง TOD “RISE CITY” แห่ง ฝูโจว กับการสร้างพื้นที่สีเขียวรอบสถานีรถไฟ
การพัฒนา TOD (Transit-oriented Development) นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางของคนได้อย่างสะดวก ปลอดภัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การจัดสรรพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้สัญจรได้รับประโยชน์ทั้งจากความร่มรื่นของร่มไม้ รวมถึงเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่รอบสถานีรถไฟ
สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้กับสวนสาธารณะ เช่น “สวนลุม” อยู่ระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี “สวนเบญจกิติ” อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี และ “สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)” อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี
แต่พื้นที่สีเขียวข้างต้นนั้นเป็นสวนสาธารณะที่มีรั้วกั้น มีเวลาเปิด-ปิด ตายตัว ทำให้ผู้เดินทางไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สร้างมาก่อนจะเกิดสถานีรถไฟ ทำให้แตกต่างจากการออกแบบพื้นที่สีเขียวแบบ TOD ที่มีการวางโครงสร้างในภาพใหญ่ตั้งแต่เริ่มโครงการเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟในบริเวณใกล้เคียง
ซึ่ง Rise City ที่ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟใต้ดินเมืองฝูโจว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร เป็นสวนสาธารณะติดกับตัวสถานี และเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสันทนาการของ คนในพื้นที่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สีเขียวให้รองรับกับ TOD
Rise City นั้นถูกออกแบบตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยเจาะกลุ่มไปที่วัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการออกแบบ เช่น ทางเดินเข้าพลาซ่า ถูกออกแบบเป็นบันไดแบบวงแหวน โดยมีประติมากรรมน้ำตกอยู่ตรงกลาง ซึ่งการออกแบบยังคำนึงถึงการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาด้วย