ม.ธรรมศาสตร์ เร่งเพิ่มความเชื่อมั่นภาวะวิกฤตให้คนไทย ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมชี้ข้อเท็จจริง และแนวทางรับมือด้านโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัย สุขภาพจิต การรับมือข่าวสาร พร้อมพัฒนาระบบ AI ช่วยคนไทยลดข้อกังวลการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย

เกริก บุณยโยธิน 04 April, 2025 at 16.24 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


– มธ.เตรียมออกคู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน พร้อมเสริมความมั่นใจด้านการแตกร้าวของโครงสร้าง – อาคาร หนุนใช้ AI ช่วยเสริมทัพการประเมินงานก่อสร้างที่แม่นยำมากขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานเสวนาวิชาการครั้งพิเศษในหัวข้อ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับมือกับแผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในสังคมไทย และยกระดับความสามารถของประชาชนในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชนในยามวิกฤต ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม- วิศวกรรมโยธา ซึ่งมีประสบการณ์ลงพื้นที่จริง แชร์วิธีการตรวจสอบรอยร้าวและความเสียหายเบื้องต้นของอาคารที่อยู่อาศัย พร้อมสาธิตเทคฯ AI ที่ช่วยในการประเมินสภาพอาคารผ่านการประมวลผลภาพถ่าย เพื่อให้ประชาชนและวิศวกรรมโยธาสามารถเข้าถึงเครื่องมือประเมินความปลอดภัยได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังดึงผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ จิตวิทยาและการสื่อสารที่มานำเสนอแนวทางในการปฏิบัติสำหรับประชาชนต่อสถานการณ์แผ่นดินไหวทั้งด้านความปลอดภัย สภาพจิตใจ และการรู้เท่าทันข่าวสาร

รศ. ดร.ดำรงค์ อดุลยฤทธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเห็นชัดแล้วว่าภัยพิบัติกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมของประชาชนในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งแม้จะเกิดไม่บ่อยครั้งแต่ก็ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญต่อปัญหาจึงได้จัดงานเสวนาวิชาการพิเศษขึ้น ในหัวข้อ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว ฉบับประชาชน” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนะแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างรอบด้านจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งวิศวกรรมโยธา แพทย์ จิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารมวลชน ที่ได้ตกผลึกข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหาร “การเป็นมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่งของสังคม”

รศ. ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับด้านโครงสร้างอาคาร ซึ่งการที่ตึกสามารถ “ยืดหยุ่น” และ “โยกตัวได้” ภายใต้แรงสั่นสะเทือนนั้น ถือเป็นหลักการออกแบบที่ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว โดยอาคารยุคปัจจุบันนิยมใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งผสมผสานคุณสมบัติของ “ความแข็งแรง” จากคอนกรีต และ “ความเหนียว” จากเหล็กไว้ด้วยกัน ทำให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนและกระจายแรงได้ดี เทคนิคทางด้านออกแบบของตึกอาคารสูงในยุคนี้จึงออกแบบให้มีความยืดหยุ่นเพื่อกระจายแรงและรับน้ำหนักของตัวเองได้ หากไม่สามารถโยกตัวได้ อาจเสี่ยงต่อการแตกร้าวหรือพังทลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตัวอาคารเกิดการแกว่งตัวมากเกินไปก็อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงความผิดปกติของโครงสร้าง โดยเฉพาะในกรณีที่โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้เพียงพอ หรือได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนก่อนหน้า  แม้ในภาวะปกติอาคารจะถูกคำนวณไว้แล้วให้ทนต่อการสั่นไหวระดับหนึ่ง แต่หากเกิดแรงสั่นซ้ำซ้อน เช่น อาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง หรือตัวอาคารมีความเสียหายที่จุดในโครงสร้างเดิม อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการถล่มของโครงสร้างอาคารได้

รศ. ดร.พรหมพัฒน กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามองคือ ระบบตรวจสอบรอยร้าวด้วยภาพถ่าย (Crack Detection) ที่ใช้ AI ด้าน Computer Vision, Photogrammetry, และ large language model ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายของอาคารเพื่อประเมินรอยร้าว ความเอียงและความผิดปกติของโครงสร้าง โดยเฉพาะการใช้โดรนเก็บข้อมูลภาพถ่ายรอบตัวอาคาร และสร้างแบบจำลองโมเดลสามมิติ (3D Modeling) ช่วยให้สามารถตรวจพบความเปลี่ยนแปลงที่ตามองไม่เห็น เช่น ความเอียงเพียงเล็กน้อยของอาคาร หรือรอยร้าวที่มีแนวโน้มลุกลาม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อโครงสร้างในอนาคต โดยเทคโนโลยีเหล่านี้เปรียบเสมือน “หมอเอกซเรย์อาคาร ที่ช่วยมองทะลุความเสียหายที่ซ่อนอยู่ เพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และประเมิน ช่วยลดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการตรวจสอบแบบเดิม ทั้งนี้หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเทคฯ เหล่านี้มาใช้ได้อย่างแพร่หลาย รวมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกันในการจัดเก็บและติดตามข้อมูลโครงสร้างอาคารอย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารทั่วประเทศได้ในระยะยาว

“InSpectra-o1” ต้นแบบแอปพลิเคชันสำหรับประเมินความเสียหายทางโครงสร้างได้จากภาพถ่ายด้วย AI ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย รศ. ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวังภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยยังอยู่ในระหว่างการทดลองใช้งานที่เปิดให้ประชาชนสามารถใช้ได้ เพื่อช่วยตรวจสอบและประเมินรอยร้าว ความเสียหายในเบื้องต้นของที่อยู่อาศัยได้ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ถูกพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลของอาคารและบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นแบบแปลน โครงสร้าง หรือประวัติการซ่อมแซม จะช่วยให้วิศวกรเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว สามารถตรวจสอบอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังใช้เป็นหลักฐานประกอบการประกันภัย ลดข้อโต้แย้งและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยประเมินความเสียหายของอาคารได้อย่างรวดเร็ว แต่การใช้งานยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ AI สามารถประเมินได้เพียงราว 50-60% เท่านั้น จึงยังต้องอาศัยวิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมในจุดที่ AI ยังไม่ครอบคลุม ทั้งนี้ In Spectra-o1 ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ประชาชนสามารถถ่ายภาพและอัปโหลดได้ทันทีโดยไม่ต้องกรอกข้อมูล ระบบจะเริ่มวิเคราะห์เบื้องต้นโดยอัตโนมัติ หากทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนและเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มความแม่นยำให้ AI สามารถประเมินได้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้าน ผศ. พญ.นิพัทธา วินะยานุวัติคุณ ภาควิชาสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  การเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มประชาชนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นลำดับต้น ๆ แต่ในบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการคุ้มครองและจัดการช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทุกวินาทีหมายถึงความอยู่รอด ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ ขณะที่มาตรการในระดับชาติเพื่อรองรับและดูแลกลุ่มเปราะบางหรือประชาชนทั่วไปก็ยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านความครอบคลุมและความชัดเจนในการดำเนินการ

อีกด้านหนึ่ง ประชาชนทั่วไปควรได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้พื้นฐานในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติต่างๆ พร้อมเข้าใจวิธีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการเผยแพร่ข้อมูล จัดทำแนวปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงพัฒนาระบบการเตือนภัยและการช่วยเหลือที่เข้าถึงง่ายและเพียงพอสำหรับทุกกลุ่ม เพราะในยามเกิดภัยพิบัติ ความรอดพ้นของชีวิตคนหนึ่งคน อาจขึ้นอยู่กับความพร้อมของสังคมโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ แนวทางเบื้องต้นในการดูแลกายและใจก็มีความสำคัญ  เช่น การประเมินสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพักพิง การจัดหาอาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรคพื้นฐาน การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉิน รวมถึงการส่งต่อผู้มีภาวะผิดปกติของร่างกายและจิตใจไปยังหน่วยบริการสุขภาพที่เหมาะสม

แม้จะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ ที่ผ่านการอบรมการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว แต่การช่วยเหลือผู้เปราะบางมักเริ่มต้นจากคนใกล้ตัว เช่น ครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือชุมชนโดยรอบ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมกันเสริมสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือในระดับรากฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ขณะเดียวกัน การเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเปราะบางเองก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่มักถูกละเลย ทั้งที่ควรได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สอดคล้องกับสภาพร่างกายหรือข้อจำกัดเฉพาะบุคคล เพื่อให้พวกเขาสามารถปกป้องตนเองในเบื้องต้นได้หากไม่มีผู้ช่วยเหลือในทันที ด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจประชาชนหลังเหตุภัยพิบัติก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการให้กำลังใจเพียงชั่วครู่ แต่เป็นการติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะจิตใจที่บอบช้ำต้องการเวลาและความเข้าใจในการฟื้นคืน

ด้าน รศ. ดร.นิธิดา แสงสิงแก้ว สาขาวารสารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข่าวและข้อมูลหลักของประชาชน การสื่อสารในช่วงสถานการณ์วิกฤตโดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว หรือไฟป่า มักแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีพลังในการสร้างความตื่นตระหนกได้ในวงกว้าง ปัญหาสำคัญคือข้อมูลจำนวนมากที่เผยแพร่ในช่วงเหตุการณ์เหล่านี้ อาจยังไม่ผ่านการตรวจสอบหรือขาดแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ซึ่งหากประชาชนรับข้อมูลโดยไม่ไตร่ตรอง ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมหรือตื่นตระหนกเกินจำเป็น การมี ทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ จึงเป็นเกราะสำคัญที่ประชาชนทุกคนควรมี โดยเฉพาะการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว เปรียบเทียบกับข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และหลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่แน่ชัด

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ การที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจฉวยโอกาสในช่วงสถานการณ์วิกฤตสร้างประเด็นหรือบิดเบือนข้อมูล เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของสังคม หรือชี้นำทิศทางความคิดเห็นในเชิงลบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมในวงกว้าง การตระหนักถึงผลกระทบจากการสร้างหรือขยายประเด็นทางสังคมที่ไม่ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนควรใส่ใจอย่างยิ่ง เพราะการสื่อสารไม่ใช่เพียงแค่การเสพข่าวเท่านั้น แต่ยังหมายถึง การรู้เท่าทัน บริโภคอย่างมีวิจารณญาณ และเลือกขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันข่าวสารที่แข็งแรงในช่วงเวลาแห่งความเปราะบางของสังคมไทย

“ประชาชนควรรับฟังข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การหาจุดปลอดภัยในอาคาร การจัดกระเป๋าฉุกเฉิน และการวางแผนเส้นทางอพยพล่วงหน้า ความเข้าใจพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดในกรณีเกิดเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคประชาชนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างสังคมที่พร้อมเผชิญและรับมือกับแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ตื่นตระหนกเกินเหตุ”

ท้ายที่สุด แม้ประเทศไทยจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือและช่วยกันลดผลกระทบความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติจริง ร่วมกันพัฒนาระบบการป้องกันที่ทันสมัย และเสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ เพราะความมั่นคงของชีวิตประชาชนคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยควรร่วมมือกันอย่างจริงจังตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตรียมจัดทำ “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว : ฉบับประชาชน” ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการเรียบเรียงและรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้และแนวปฏิบัติที่เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในชุมชนเมืองและพื้นที่เสี่ยงภัย คู่มือฉบับนี้จะช่วยยกระดับความพร้อมของคนไทยในการเผชิญเหตุฉุกเฉิน ทั้งในแง่ของการป้องกันตนเอง ดูแลคนรอบข้าง ไปจนถึงการรับมือกับผลกระทบหลังเหตุการณ์ เพื่อให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างไม่ประมาท และมีความมั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

เกริก บุณยโยธิน

เกริก บุณยโยธิน

ผู้ก่อตั้งเวปไซต์แบ่งปันความรู้ด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ในวงการอสังหาฯ พร็อพฮอลิค ดอทคอม..หลังจากที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการวนเวียน เข้าๆออกๆ ในสายงานด้านการตลาด และวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ของบริษัทอสังหาฯ และเอเยนซีโฆษณาชั้นนำหลายแห่ง (โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจับสลากเจอลูกค้าสายอสังหาฯทุกที)...จนถูกครอบงำโดยจิตใต้สำนึก ให้ถีบตัวเองออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อออกมาจุดประกายความคิดที่ถูกต้อง และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจอสังหาฯ

เว็บไซต์

เรฟเฟอเรนซ์ เกษตร ดิสทริค

นิว โคสต์ คูคต สเตชัน

ศุภาลัย เอสเซ้นส์ บางนา - สุวรรณภูมิ

“เราเชื่อว่าบ้านที่ดีที่สุด คือบ้านที่ทำให้รู้สึกคิด...

4 March, 2025

นิว เอปิค อโศก-พระราม 9

โครงการ NUE EPIC ASOK – RAMA 9 ตั้งอยู่บนถนนอโศก-ดิน...

6 January, 2025

นิว คอร์ คูคต สเตชัน

NUE Core Khu Khot Station เป็นคอนโดใหม่เพียงหนึ่งเดี...

20 December, 2024

ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์

ทำเลฝั่ง “ธนบุรี” ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง...

6 November, 2024

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง