การถูกทดแทนอาจมาได้ในหลายรูบแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นการมาของ iPhone ที่ทดแทนสินค้าได้หลายชนิด เช่นสมุดจด organizer ปฎิทิน เครืองคิดเลข หรือการมาของ social media และ youtube ก็เข้ามาทดแทนการดูโทรทัศน์เช่นเดียวกัน
สิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นช่วยเร่งให้การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไปนั้นเร็วขึ้นอีก (เช่นการเข้ามาของ PC และ internet ทำให้การหาข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลทำได้เร็วขึ้นมาก) และการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภคก็ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น Facebook พึ่งเกิดขึ้นมาในปี 2004 และใช้เวลาเพียงแค่สิบกว่าปีทำให้มีผู้ใช้งานกว่า 1500 ล้านคน)
ดังนั้นการจะลงทุนให้ปลอดภัยนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีควบคู่กันไปด้วย นักลงทุนควรจะคิดอยู่เสมอว่าสินค้าของบริษัทที่เราลงทุนอยู่นั้น จะสามารถมีคู่แข่งหรือสินค้าทดแทนได้หรือไม่ และถ้ามีสินค้าทดแทนได้แล้ว สินค้าหรือบริการของบริษัทนั้นยังสามารถมีความสามารถในการแข่งขันได้หรือไม่
ปัจจัยเหล่านี้เองที่เป็น “จุดตาย” ของบริษัท เนื่องจากในระยะยาว ถ้าบริษัทไม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้แล้ว โอกาสที่บริษัทจะล้มหายตายจากไป หรือสูญเสีย market share ก็มีความเป็นไปได้สูง
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะลงทุนในบริษัทที่อยู่ในเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนสิ่งเก่าก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป การวิเคราะห์ว่าบริษัทใดจะเป็นผู้ชนะที่ยั่งยืนนั้นทำได้ยาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในบทความถัดไปเราจะลองพิจารณากรณีศึกษาต่างๆ ของการปรับตัวของบริษัททั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ