เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ “สถาปนิก’68” งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 37
เริ่มแล้ว มหกรรมแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน “สถาปนิก’68” โดย สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ ทีทีเอฟ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” ตอกย้ำสถาปัตยกรรมมีความสำคัญในทุกเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบันและนำไปสู่อนาคต ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษมากมาย รวมถึงพื้นที่จัดแสดงสินค้านวัตกรรมเพื่อการออกแบบ-ก่อสร้างครบวงจร จากผู้ประกอบการแบรนด์ชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 1,000 ราย คาดมีผู้ร่วมชมงานจากทั่วโลกกว่า 325,000 คน ตลอด 6 วันของการจัดงาน ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2568 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงการจัดงานสถาปนิก ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของแวดวงนักออกแบบ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 โดยใช้ชื่องานว่า “สถาปนิก’29” และได้จัดงานมาเป็นประจำต่อเนื่องจนถึง สถาปนิก’68 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 37 โดยคงวัตถุประสงค์หลักของการเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกในแวดวงสถาปัตยกรรม ผ่านงานแสดงนิทรรศการ การประชุมสัมมนา การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่มีบทบาทส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม รวมถึงยังสามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้ ด้วยการเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงนิทรรศการด้านการออกแบบ จัดแสดงสินค้าเทคโนโลยีวัสดุก่อสร้าง การให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ โดยรวบรวมผู้ประกอบการแบรนด์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ มาจัดแสดงบนพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน
นายธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวเสริมถึงงานสถาปนิก’68 ถือเป็นการต่อยอดนำเสนอนิทรรศการเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี สมาคมฯ โดยปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “ทบทวน ทิศทาง: Past Present Perfect” สะท้อนการเชื่อมต่อระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านองค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ที่ผสานกันเป็นหนึ่งเดียว โดยที่ผ่านมาสถาปนิกได้ร่วมงานกับหลากหลายวิชาชีพจากทั่วทุกภูมิภาค ได้สำรวจและทบทวนถึงทิศทางที่สถาปัตยกรรมไทยได้ก้าวเดินผ่านมาหลายยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานเทคนิคและวัฒนธรรมจากอดีต การปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและความต้องการของสังคมในแต่ละยุค รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เคยเป็นและสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเรามีเส้นทางและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและตัวตนของสถาปนิกอย่างไรเพื่อมองอนาคตไปด้วยกัน