รายงานแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยและเอเชียแปซิฟิกช่วงกลางปี 2566: ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เผชิญความท้าทาย ขณะที่ตลาดที่สามารถปรับตัวได้คือโอกาสในการลงทุน
เมื่อปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายหลังการแพร่ระบาดเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างคิดวิเคราะห์ ซีบีอาร์อีได้เคยกล่าวถึงการพึงระวังเกี่ยวกับระยะเวลาในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ
ในรายงานแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิกช่วงกลางปี 2566 ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก คาดการณ์ว่า ตลาดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกจะยังคงมีความท้าทาย อันเป็นผลมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง การปรับฐานราคาที่ยังไม่เพียงพอ และการที่ตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้
ซีบีอาร์อีได้ปรับการคาดการณ์ปริมาณการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในเอเชียแปซิฟิกสำหรับปี 2566 โดยคาดว่าจะลดลง 15% ก่อนที่จะมีการเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ขณะที่ความเชื่อมั่นของตลาดและกิจกรรมการลงทุนแตกต่างกันออกไป ภาคธุรกิจโรงแรมยังคงมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น รายงานกลางปีฉบับนี้ได้สื่อให้เห็นถึงแนวโน้มต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและบริการ พร้อมด้วยภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์
แม้จะยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการฟื้นตัวของตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯ หลังการแพร่ระบาดของโควิด แต่ตลาดก็มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ Smith Travel Research (STR) รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) และรายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้ (ADR) ได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าปี 2562 อย่างต่อเนื่องแต่ละไตรมาส นับตั้งแต่ข้อจำกัดการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยถูกยกเลิก มีเพียงอัตราการเข้าพักเท่านั้นที่ต่ำกว่าในปี 2562 จึงไม่น่าแปลกใจที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยขึ้นสู่จำนวนสูงสุดที่ 39 ล้านคนในปี 2562 และคาดว่าจะสูงถึง 25 ล้านคนในปีนี้
ในแง่ของประเทศต้นทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 75% มาจากประเทศในเอเชีย เที่ยวบินระยะสั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวนี้ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากเที่ยวบินระยะไกลยังคงมีจำนวนน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาด บรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศ 7 อันดับแรกที่มาเยือนประเทศไทยมากที่สุด ส่วนใหญ่เริ่มกลับมามีจำนวนอยู่ในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าในปี 2562 ยกเว้นประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนผู้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในไตรมาสนี้น้อยลง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562