แชร์ 7 เรื่องพื้นฐาน ก่อนสร้างบ้านต้องรู้ จาก SCG Roof Installation
จะซื้อบ้านทั้งทีใคร ๆ ก็อยากได้บ้านที่ตรงใจ ตอบโจทย์ความต้องการได้ครบทุกฟังก์ชัน ดังนั้นการปลูกสร้างบ้านเองจึงเป็นคำตอบที่หลาย ๆ คนต้องการ โดยเฉพาะผู้ที่มีที่ดินเปล่าอยู่ในครอบครอง การตัดสินใจสร้างบ้านเองจึงไม่ใช่เรื่องเกินฝัน แต่ก่อนอื่นควรศึกษาข้อมูลพื้นฐานก่อนสร้างบ้านให้ละเอียด เพราะการสร้างบ้านเองมีขั้นตอนมากมาย หากไม่เตรียมพร้อมก่อนแน่นอนว่าต้องปวดหัวภายหลัง ดังนั้นควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญตั้งแต่ต้น จะช่วยให้เจ้าของบ้านตัดปัญหาและคลายกังวลได้ โดยเฉพาะช่างที่เชี่ยวชาญในการติดตั้งหลังคาโดยตรง จะทำให้โครงสร้างหลังคา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของบ้าน ตลอดจนวัสดุที่เลือกใช้ รวมถึงการมุงหลังคาได้มาตรฐานสูงสุด ‘SCG Roof Installation’ จึงเป็นหนึ่งในลิสต์อันดับต้นสำหรับเจ้าของบ้านที่กำลังสร้างบ้านใหม่ และมองหามืออาชีพ เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์ แต่ก่อนอื่นมาดูกันว่าก่อนสร้างบ้านมีข้อมูลพื้นฐานอะไรที่ต้องรู้กันบ้าง
1. เลือกที่ดินให้เหมาะสม
ควรเช็คข้อมูลก่อนว่าที่ดินตรงพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำสิ่งปลูกสร้างได้หรือไม่ ทั้งเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เข้าถึงพร้อมอยู่อาศัยหรือยัง นอกจากนี้อย่าลืมตรวจสอบประวัติการเกิดอุทกภัย เพื่อประมาณการการถมที่ดินเพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือหากใครมองหาซื้อที่ดินควรเลือกที่ดินที่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมและมีการถมที่ดินมาแล้วเพื่อประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง
2. วางแผนงบประมาณการสร้างบ้าน
การวางงบประมาณอย่างเหมาะสมเป็นการวางแผนการเงินอย่างเป็นขั้นตอน หากคำนวณแล้วว่ามีเงินสดไม่เพียงพอในการสร้างบ้านให้เสร็จ อาจจะต้องวางแผนในการขอสินเชื่อกับธนาคาร แล้วแบ่งสัดส่วนการเงินอย่างเหมาะสม หากไม่ต้องการเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารมากเกินไปก็อาจจะใช้เงินสดมากกว่า หรือหากอยากเก็บเงินสดไว้เผื่อฉุกเฉินในอนาคต ลองศึกษาข้อมูลสินเชื่อที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด
3. ออกแบบบ้านตามงบประมาณ
เมื่อเราจำกัดงบประมาณในการสร้างบ้านเอาไว้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเขียนแบบโครงสร้างของบ้านและการตกแต่งภายใน โดยขั้นตอนนี้มีหลายวิธีด้วยกัน หากใช้บริษัทรับสร้างบ้านโดยส่วนมากการเขียนแบบจะรวมอยู่ในบริการของบริษัท แต่หากจ้างผู้รับเหมาเองจะต้องจ้างผู้เขียนแบบบ้านเพื่อนำแบบไปขออนุญาตก่อสร้างกับสำนักงานเขต ซึ่งต้องมีลายเซ็นของวิศวกรโยธาและสถาปนิกเซ็นรับรองในแบบนั้น สำหรับใครที่ต้องการประหยัดเวลาหรือไม่มีไอเดียในใจ แนะนำให้ขอแบบบ้านมาตรฐานกับทางสำนักงานเขตในท้องถิ่น ซึ่งจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเขียนแบบ และเป็นแบบที่สามารถนำไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างได้ทันที
4. ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้าง
หลังจากได้แบบบ้านที่ต้องการและเตรียมก่อสร้างแล้ว เจ้าของบ้านต้องดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างที่สำนักงานเขตตามท้องถิ่นจังหวัดนั้น โดยสำนักงานเขตท้องถิ่นจะทำการตรวจสอบแบบแปลนโดยละเอียดว่าสามารถก่อสร้างได้หรือไม่ หากตรวจสอบแล้วไม่ติดข้อกำหนดตามกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารก็จะได้รับหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติเจ้าของบ้านต้องดำเนินการแก้ไขตามรายละเอียดข้อบังคับ และยื่นขออนุญาตใหม่อีกครั้ง เมื่อใบขออนุญาตก่อสร้างผ่านแล้ว สิ่งที่ควรระวังคือหากมีเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับเพื่อนบ้าน หรือก่อสร้างเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือมีผู้ร้องเรียน อาจส่งผลให้ต้องหยุดการก่อสร้างชั่วคราวหรือระงับการก่อสร้างได้ ดังนั้นเจ้าของบ้านและผู้รับเหมาต้องทำความเข้าใจและระมัดระวังความเสียหายในส่วนนี้เป็นอย่างมาก