PropStat Exclusive: บทวิเคราะห์ศักยภาพทำเลเอกมัย
พื้นที่บริเวณใจกลางกรุงเทพฯนั้น มีอยู่หลายทำเลที่มีเอกลักษณ์ในเชิงไลฟ์สไตล์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น Central Lifestyle District ไม่ว่าจะเป็นทำเลอย่าง สยาม สามย่าน อารีย์ นานา ราชดำริ ทองหล่อ เอกมัย ไปจนถึงอ่อนนุช แต่หากจะถามว่าย่านไลฟ์สไตล์แห่งไหน ที่มีบริบทของทำเล การเดินทาง และโครงการอสังหาฯ ที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตอันมีสีสัน เลือกทำกิจกรรมได้ไม่ซ้ำกันเลยตลอด 24/7 ให้คุณได้ทั้งพักผ่อนและทำงานแบบไร้รอยต่อ ก็เห็นจะมีเพียงแค่ 2 ทำเล ที่ได้รับการหมายปองทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติให้เป็นที่อยู่ในใจของใครหลายคน นั่นก็คือ ทองหล่อ และเอกมัย สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ ย่านทองหล่อดูจะเป็นย่านที่มีค่าครองชีพ และราคาของคอนโดที่ค่อนข้างสูง แปรผันตามราคาที่ดินในโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อที่มีราคาสูงมากกว่า 2.5 ล้านบาทต่อตารางวา ซึ่งนับว่าเป็นการยากสำหรับดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายสอดคล้องกับกลุ่มผู้ซื้อหลักที่เป็น Real Demand ในกรุงเทพฯ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลในแง่บวกโดยตรงต่อย่านเอกมัย ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับทองหล่อ โดยที่มีหลายเส้นทางที่เชื่อมต่อกันไปมาได้ แต่มีต้นทุนในการซื้อที่ดินที่ต่ำกว่าเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาฯประเภท Commercial และคอนโดในระดับราคาไม่เกินตารางเมตรละสองแสน หรือต่ำกว่าย่านทองหล่อประมาณ 20% ได้ ผลลัพธ์ก็คือเราได้เห็นโครงการห้างค้าปลีก, ร้านอาหาร, Co-Working Space, Hostel และคอนโด เกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้ตอบสนองกับดีมานท์การอยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของย่านเอกมัย และเชื่อว่าในอนาคตย่านเอกมัย จะมีการ Transform เป็นย่านที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทดแทนทำเลทองหล่อ ที่ซึ่งปัจจุบันมีโครงการคอนโดมิเนียมหรู ราคาแพงอัดแน่นเต็มพื้นที่ และแทบจะไม่เหลือที่แปลงใหญ่ในการพัฒนาโครงการเชิง Commercial ได้อีกแล้ว เรียกได้ว่าจ่ายถูกกว่า แต่ได้อยู่ทำเลติดกัน
เอกมัย ย่านไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนภาพทองหล่อ และการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี
เมื่อพูดถึง “เอกมัย” หลายคนคงจะคิดถึงซอยสุขุมวิท 63 ย่านที่ทั้งสองฝั่งถนนในยามกลางคืนนั้น เต็มไปด้วยคาเฟ่ คลับบาร์ เรียงรายตลอดแนว โดยที่ในช่วงกลางวัน เอกมัย ยังเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนรุ่นใหม่ ในวัยทำงาน เนื่องจากเป็นอีกย่านที่เป็นศูนย์รวมของ Co-Working Space, Community Mall และอาคารสำนักงานชั้นนำ แต่หากใครที่คุ้นเคยกับทำเลนี้ หรืออยู่อาศัยในย่านนี้อยู่แล้ว ก็จะพบว่า ซอยเอกมัยหรือสุขุมวิท 63 เป็นทำเลที่เป็นที่อยู่อาศัยมานานมากแล้วตั้งแต่อดีตไม่น้อยกว่า 30 – 40 ปี ก่อนหน้านี้จะเป็นพื้นที่ที่มีบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่แบบก่อสร้างเอง ออกแบบเอง บนที่ดินของตนเอง โดยเฉพาะพื้นที่ตามซอยย่อยหรือซอยที่แยกออกจากซอยสุขุมวิท 63 ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสุขุมวิท 71 ที่นับว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ใจกลางเมืองที่ค่อนข้างเงียบสงบมีความพลุกพล่านไม่มากนัก ในอดีต ที่ดินส่วนใหญ่ของเอกมัยเป็นที่ดินและที่อยู่อาศัยของผู้คนระดับเศรษฐี ในรูปแบบบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย หลายซอยย่อยเป็นซอยตันหรือวนรถกลับออกได้ บางซอยสามารถทะลุเชื่อมกับสุขุมวิท 55 และสุขุมวิท 71 ได้ หรือจะไปถนนเพชรบุรี, พระราม 9, ถนนพระราม 4 ก็สะดวกและช่วยย่นระยะการเดินทางได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ามา ทำให้ความเจริญหลั่งไหลเข้ามาที่เอกมัยด้วยเช่นกันส่งผลให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา อาจจะพูดได้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องมาจากซอยทองหล่อหรือซอยสุขุมวิท 55 ด้วยความที่ซอยเอกมัยและทองหล่อเป็น 2 ซอยที่เชื่อมระหว่างถนนสุขุมวิทกับเพชรบุรี ซึ่งเป็นถนนเส้นทางหลักของกรุงเทพฯเหมือนๆ กัน และเป็น 2 ซอยที่มีซอยย่อยที่เชื่อมต่อถึงกันอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในซอยเอกมัยและซอยย่อย เริ่มเห็นได้ชัดมากขึ้นหลังจากพื้นที่ตามแนวซอยทองหล่อมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ที่ดินหรือบ้านขนาดใหญ่หลายๆแปลง มีการเปลี่ยนมือไปสู่ดีเวลลอปเปอร์จำนวนมาก ที่ซื้อที่ดินมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการคอนโด โรงแรม คอมมูนิตี้มอลล์ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ ซึ่งเมื่อมีการซื้อขายที่ดินกันมากขึ้นจึงมีผลต่อเนื่องให้ราคาที่ดินในซอยทองหล่อสูงขึ้นทุกปีๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ตลอดแนวซอยทองหล่อ และซอยย่อยต่างๆ ที่แยกออกจากซอยทองหล่ออีกด้วย โดยราคาที่ดินในพื้นที่ตลอดแนวซอยทองหล่ออยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทขึ้นไปถึง 3 ล้านบาทต่อตารางวา ที่ดินที่อยู่ในซอยอาจจะต่ำกว่านี้แต่ก็อาจจะมีบางซอยที่สูงกว่า 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา ถ้าสามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงได้ ในขณะที่ราคาที่ดินในซอยเอกมัยต่ำกว่ามากนัก
เมื่อราคาที่ดินในซอยทองหล่อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี การหาที่ดินในซอยที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และอยู่ทำเลที่มีศักยภาพไม่ต่างกันเพื่อทดแทนจึงเกิดขึ้น โดยซอยเอกมัยเป็นซอยที่เชื่อมถนนสุขุมวิทและถนนเพชรบุรีเหมือนกันกับซอยทองหล่อ มีซอยย่อยหลายซอยที่เชื่อมถึงกัน นอกจากนี้ซอยเอกมัยยังเชื่อมไปยังซอยอื่นๆ ได้อีกหลายซอย รวมไปถึงไม่ไกลจากทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษศรีรัช เช่นเดียวกับมีสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยที่อยู่ปากซอยตรงถนนสุขุมวิท ดังนั้น การคมนาคมหรือการเดินทางของคนที่อยู่ในซอยเอกมัยจึงมีความสะดวกสบายมาก เพียงแต่พื้นที่ที่อยู่เลยช่วงกลางซอยเอกมัยไป อย่างบริเวณเอกมัยเหนือ อาจจะลำบากในการเดินทางถ้าไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เพราะไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากการเดินทางด้วยเรือโดยสาร
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เริ่มจากพื้นที่ที่ไม่ไกลจากปากซอยเอกมัยใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าหรือพื้นที่ใกล้ๆ กับซอยย่อยที่เชื่อมกับซอยทองหล่อ โดยเฉพาะซอยเอกมัย 12 และซอยเอกมัย 21 แต่หลังจากนั้นก็กระจายต่อเนื่องไปทั้งซอย ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านขายของต่างๆ รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวตอนกลางคืนมีให้เห็นมากมายในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันพื้นที่ในซอยเอกมัยกลายเป็นอีก 1 แหล่ง Lifestyle สำคัญของกรุงเทพมหานคร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่มีผลให้พื้นที่ตลอดแนวของซอยเอกมัยน่าสนใจคือ พื้นที่ถนนของซอยเอกมัยมีความกว้างมากกว่า 10 เมตรซึ่งมีผลให้สามารถพัฒนาอาคารสูงได้ ดีเวลลอปเปอร์หลายรายจึงเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นโครงการคอนโดกันหลายโครงการ แม้ว่าจะเป็นโครงการคอนโดระดับ High-End แต่ในเรื่องของราคาขายก็ยังคงไม่เทียบเท่าโครงการในระดับใกล้เคียงกันที่อยู่ในซอยทองหล่อ เพราะมีต้นทุนราคาที่ดินที่ต่ำกว่า
โครงการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพของเอกมัยให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
รูปแบบของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ตลอดแนวซอยเอกมัยคือ โครงการคอนโดมิเนียมซึ่งก่อนหน้านี้ 10 กว่าปีอาจจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อราคาที่ดินในซอยทองหล่อสูงขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด พื้นที่ในซอยเอกมัยจึงเป็น หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ในมุมมองของทั้งดีเวลลอปเปอร์ และผู้ซื้อเพราะยังไม่ไกลจากทองหล่อ อีกทั้งศักยภาพหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็มีให้เห็นต่อเนื่อง มีโอกาสในการเติบโตได้อีกเยอะ ด้วยราคาที่ดินที่ยังไม่สูงเกินไป นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในพื้นที่ที่ต่อเนื่องกับซอยสุขุมวิท 63 อย่างซอยสุขุมวิท 40 – 42 ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามก็มีทิศทางที่เป็นบวก
พื้นที่ในซอยเอกมัยอาจจะหาที่ดินขนาดใหญ่ได้ยาก แต่ถ้าเป็นพื้นที่ตามแนวถนนสุขุมวิทรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเอกมัยยังพอหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้ โดยที่ดินที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต คือ
1. ที่ดินเปล่าขนาด 4 – 1 -92 ไร่ ตรงปากซอยเอกมัยใกล้กับทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาเป็นโครงการ Commercial เพื่อให้เหมาะสมกับทำเลและรูปแบบของกรรมสิทธิ์บนที่ดิน
2. ที่ดินของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) ขนาดประมาณ 7.3 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยความคืบหน้าล่าสุด ณ ปลายปีพ.ศ.2563 คือ มีการทำเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) โดยระบุว่ารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ความคุ้มค่าโครงการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอการดำเนินการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเมื่อผลการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อย จึงค่อยนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนต่อไป โดยจากการศึกษาระบุว่าจะเปิดประมูลที่ดินแปลงนี้ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ โดยชั้นล่างเป็นสถานีขนส่งที่ทันสมัยในคอนเซ็ปต์ Smart Station ด้านบนเป็นพื้นที่ค้าปลีก โรงแรม สำนักงาน และที่จอดรถ มูลค่าการลงทุนจากการศึกษาเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 12,513 ล้านบาท โดยเอกชนที่จะเข้ามาประมูลที่ดินแปลงดังกล่าวต้องเสนอแผนในการหาที่ดินเพื่อสร้างสถานีขนส่งชั่วคราวเป็นระยะเวลา 3 ปีในช่วงที่โครงการนี้ก่อสร้าง เรื่องหลังนี่อาจจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลของเอกชนบางราย เบื้องต้นนั้นทางบขส. จะให้สัมปทาน 50 ปีสำหรับเอกชนที่ชนะการประมูลซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่แบบนี้
3. ที่ดินในช่วงซอยเอกมัย 9 กำลังจะกลายเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ชื่อ “@Ekkamai” ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่เน้นร้านอาหาร และสินค้าอุปโภค บริโภค เน้นร้านไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับคนในพื้นที่โดยจะเริ่มการก่อสร้างในปีพ.ศ.2564 และแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2565 – 2566 ต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะออกมาในรูปแบบใด
แม้ว่าโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย หรือในพื้นที่ตามแนวซอยเอกมัยอาจจะมีไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันพื้นที่นี้ก็มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้วรวมไปถึงอาคารสำนักงาน Co-Working Space ขนาดเล็ก ขนาดกลาง การเดินทางที่สะดวกสบายทั้งโดยระบบขนส่งสาธารณะและโดยรถยนต์ส่วนตัว ไม่ไกลจากย่านพาณิชยกรรมหรือการค้าใจกลางเมือง อีกทั้งในพื้นที่ยังมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกหลายขนาด หลายรูปแบบรองรับคนในพื้นที่ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ดอง ดอง ดองกิ (Don Don Donki) ตั้งอยู่ภายในดองกิ มอลล์ ทองหล่อ ซอย 10 (หรือเอกมัย ซอย 5) ของบริษัท เจซีซี-ทีโอเอ จำกัด ภายใต้คอนเซ็ปค์ ‘Food. Fun, Culture & Amusement Mall’ ที่แตกต่างไปจากดองกิในญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนภาพไลฟ์สไตล์ของคนกรุงที่นิยมการช็อปปิ้งและใช้เวลาในพื้นที่อเนกประสงค์มากกว่าตรงเข้าช็อปปิ้งอย่างเดียว ซึ่งศูนย์การค้า Donki Mall ทองหล่อ แห่งนี้จะมีทั้งหมด 5ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นก็จะแบ่งเป็นโซนต่างๆ และในส่วนของร้าน ดอง ดอง ดองกิ ดิสเคาน์สโตร์ที่จำหน่ายสินค้าตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบจะเปิดทั้งหมด 2 ชั้น ที่สำคัญคือเปิดตลอด 24 ชม. เลยด้วย
ย่านและสถานที่สำคัญต่างๆในเอกมัย
ส่องตลาดคอนโดมิเนียมในย่านเอกมัย
คอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่นี้มีจำนวนไม่น้อยเพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักของกรุงเทพมหานครมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ถ้าดูจำนวนคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 เป็นต้นมา พบว่าพื้นที่ตามแนวซอยเอกมัยและรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเอกมัยรวมไปถึงซอยฝั่งตรงข้ามซอยเอกมัย อย่างซอนสุขุมวิท 42 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่สะสมอยู่ประมาณ 11,162 ยูนิต โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย
ที่มา: คุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
คอนโดมิเนียมในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย เริ่มเห็นว่ามีการขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา โดยในช่วงปีพ.ศ.2559 – 2562 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่นี้มากกว่า 1,000 ยูนิตต่อปี และในปีพ.ศ.2561 เปิดขายใหม่มากกว่า 2,500 ยูนิต ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของตลาดคอนโดมิเนียมรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าทองหล่อที่มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากกว่า 1,000 ยูนิตต่อปีในช่วงปีพ.ศ.2559 – 2561 เช่นกัน และเมื่อพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าทองหล่อเริ่มเต็ม ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าเอกมัยจึงเริ่มได้รับความสนใจจากดีเวลลอปเปอร์มากขึ้นตามไปด้วย เพราะดีเวลลอปเปอร์ไม่ต้องการที่ดินราคาสูงเพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรซึ่งมีกลุ่มผู้ซื้อไม่มากในกรุงเทพมหานคร
ในช่วง 1 – 2 ปีจากนี้อาจจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ไม่มากนักในพื้นที่นี้ เมื่อเทียบกับช่วง 3 – 4 ปีก่อนหน้านี้ เพราะยังคงมีคอนโดมิเนียมเหลือขายอยู่ในพื้นที่ ประกอบกับราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยราคาขายที่ดินมากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อตารางวาไปแล้วสำหรับที่ดินริมถนนสุขุมวิท 63 ที่สามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงได้ โดยที่ดินที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยและสามารถพัฒนาอาคารสูงได้จะมีราคาขายมากกว่านี้
คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยแยกตามซอยสุขุมวิทเลขคู่และเลขคี่
ที่มา: คุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยมีความแตกต่างกันไม่ได้มีศักยภาพเทียบเท่ากัน เพราะมีหลายซอยที่ไม่สามารถพัฒนาเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากติดข้อกำหนดของกฎหมายและผังเมืองกรุงเทพมหานคร ทั้งในฝั่งซอยสุขุมวิทเลขคี่ (ซอยสุขุมวิท 61 – 65) และซอยสุขุมวิทเลขคู่ (ซอยสุขุมวิท 40 – 44) แต่ฝั่งของซอยสุขุมวิทเลขคู่หรือทางด้านทิศใต้ของถนนสุขุมวิท อาจจะมีความชัดเจนกว่า เพราะความกว้างของซอยไม่เกิน 10 เมตร แม้จะเป็นซอยที่แยกออกมาจากถนนสุขุมวิทโดยตรงก็ตามซึ่งเมื่อความกว้างของซอยไม่ถึง 10 เมตรก็จะไม่สามารถพัฒนาอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่บนที่ดินได้ ดังนั้น โครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการที่อยู่ในพื้นที่นี้จะเป็นอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตรหรือ 7 – 8 ชั้นเท่านั้น จริงอยู่ที่ฝั่งซอยสุขุมวิทเลขคี่เองก็มีซอยที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรและไม่สามารถพัฒนาอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ได้เช่นกัน อย่างเช่นซอยสุขุมวิท 61 แต่ด้วยความที่ซอยเอกมัยมีความกว้างมากกว่า 10 เมตร และมีความยาวมากกว่า 2.6 กิโลเมตร ดังนั้น จำนวนอาคารสูงในพื้นที่ฝั่งซอยสุขุมวิทเลขคี่จึงมีมากกว่า และมีผลต่อเนื่องให้จำนวนคอนโดมิเนียมมีมากกว่าชัดเจน ดังนั้น เมื่อซอยมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรแม้ว่าราคาที่ดินจะไม่สูงมาก แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเช่นกัน อาจจะมีบ้างที่มีการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ แต่จำนวนจะไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับซอยที่มีความกว้างมากกว่า 10 เมตรขึ้นไป
อัตราการขายได้ของคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย
ที่มา: คุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
คอนโดมิเนียมทั้งหมดประมาณ 11,162 ยูนิตในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยที่เปิดขายมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 เป็นต้นมา ขายไปได้แล้วประมาณ 77% มียูนิตเหลือขายอยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 2,600 ยูนิต โดยเป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่ในพื้นที่ซอยสุขุมวิทเลขคี่มากกว่าแบบชัดเจน โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 92% ของคอนโดมิเนียมเหลือขายทั้งหมดในพื้นที่นี้ เนื่องจากหลายโครงการเปิดขายในช่วงปีพ.ศ.2562 – 2563 ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว และหลายโครงการมีราคาขายที่ค่อนข้างสูงคือมากกว่า 180,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อในกรุงเทพมหานคร และยังคงมีคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายต่ำกว่านี้ให้เลือกในอีกหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครรวมไปถึงในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยซอยสุขุมวิทเลขคู่ ดังนั้น คอนโดมิเนียมในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยซอยสุขุมวิทเลขคู่จึงมีอัตราการขายได้ที่สูงกว่าในพื้นที่ซอยสุขุมวิทเลขคี่ชัดเจน ปัจจุบันแทบไม่มียูนิตเหลือขายแล้ว ยกเว้นในบางโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์แล้วแต่มีผู้ซื้อที่เป็นชาวต่างชาติซึ่งไม่สามารถมาโอนกรรมสิทธิ์ได้ในช่วงนี้
ส่วนในฝั่งของซอยสุขุมวิทเลขคี่ที่มีจำนวนคอนโดมิเนียมมากกว่าและมีราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่ที่มากกว่าแบบชัดเจน อาจจะต้องใช้เวลาในการขายไปอีกไม่น้อยกว่า 1 – 2 ปี เพราะในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้คงเป็นการยากที่จะระบายสต็อกคอนโดมิเนียมเหล่านี้ออกไปได้ในเร็ววัน ยกเว้นดีเวลลอปเปอร์บางรายที่ยอมลดราคาขายลงมามากกว่า 20 – 30% ในโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์เพื่อจะได้ปิดการขายโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์เหล่านั้น นอกจากนี้ยังคาดการณ์ได้ว่าดีเวลลอปเปอร์หลายรายที่มีที่ดินในพื้นที่นี้คงยังไม่รีบพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมออกมาขายในปีพ.ศ.2564 เช่นกัน เพราะคงต้องรอดูการระบายสต็อกคอนโดมิเนียมในพื้นที่ต่อเนื่อง
ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัย
ที่มา: คุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
ถ้าพิจารณาราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในพื้นที่ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมาถึงปีพ.ศ.2564 พบว่าราคาขายปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5 – 6% ต่อปี ซึ่งอาจจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า แต่ด้วยความที่โครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่มีความหลากหลายและมีรูปแบบโครงการแตกต่างกันแบบชัดเจน จึงมีผลให้ราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่มีอัตราการปรับเพิ่มขึ้นของราคาขายไม่สูงมากนัก แต่ถ้าแยกพิจารณาเป็นพื้นที่ตามซอยสุขุมวิทเลขคี่ และเลขคู่จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนมากขึ้น
ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยที่เปิดขายใหม่แยกตามพื้นที่ซอยสุขุมวิทเลขคี่ และเลขคู่
ที่มา: คุณสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
โครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา ในพื้นที่ตามแนวซอยสุขุมวิทเลขคี่หรือพื้นที่ทางทิศเหนือของถนนสุขุมวิท มีราคาขายเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูง คือมากกว่า 170,000 บาทต่อตารางเมตร มาโดยตลอดอาจจะมีบางโครงการที่เปิดขายในราคาขายเฉลี่ยน้อยกว่า 150,000 บาทต่อตารางเมตร แต่เป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ในซอยย่อยที่แยกออกจากซอยเอกมัย และก็มีหลายโครงการที่เปิดขายในระดับราคามากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร เช่นกัน โดยโครงการใหม่ที่อยู่บนพื้นที่ตามแนวถนนใหญ่สุขุมวิท และตามแนวซอยเอกมัย (สุขุมวิท 63) จะมีราคาขายเฉลี่ยที่สูงกว่าโครงการที่อยู่ในซอยย่อยแบบชัดเจน เพราะมีราคาขายเฉลี่ย ณ ตอนต้นปีพ.ศ.2564 อยู่ที่ประมาณ 230,000 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่โครงการที่อยู่ในซอยย่อยมีราคาขายเฉลี่ยที่ประมาณ 185,000 บาทต่อตารางเมตรเท่านั้น
ในขณะที่พื้นที่ตามแนวซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ หรือทางทิศใต้ของถนนสุขุมวิทมีราคาขายเฉลี่ยที่ต่ำกว่าชัดเจน คือ น้อยกว่าประมาณ 13 – 15% เพราะหลายโครงการที่เปิดขายก่อนหน้านี้ 3 – 4 ปีมีราคาขายเฉลี่ยที่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางเมตร แต่โครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีราคาขายแตกต่างจากโครงการในพื้นที่ตามแนวซอยสุขุมวิทเลขคี่ไม่มากนัก บางโครงการมีราคาขายเฉลี่ยที่ประมาณ 180,000 – 190,000 บาทต่อตารางเมตร
แนวโน้มราคาขายคอนโดมิเนียมในพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าเอกมัยมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมากขึ้นแต่คงต้องรอเวลาอีกสัก 1 – 2 ปีให้คอนโดมิเนียมเหลือขายลดน้อยลง และรอให้สถานการณ์ต่างๆ กลับมาเป็นปกติก่อน เพราะปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่เอื้อให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันมากนัก อีกทั้งดีเวลลอปเปอร์ยังไม่อยากเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมราคาสูงในกรุงเทพมหานคร แต่ทิศทางของราคาคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ปรับเพิ่มขึ้นแน่นอนในอนาคตเพราะด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ที่น่าจะเจริญรอยตามย่านทองหล่อมาติดๆ ก็เพียงพอให้พื้นที่นี้มีความน่าสนใจทั้งในสายตาของผู้ซื้อและนักลงทุนรวมไปถึงดีเวลลอปเปอร์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่