Condo No Cry ฮือๆ ยังหาคนเช่าคอนโดไม่ได้ ทำยังไงดี

ต่อทอง ทองหล่อ 29 January, 2019 at 11.53 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ใครที่มีคอนโดมิเนียมแต่ยังปล่อยเช่าไม่ได้บ้างยกมือขึ้น!

สำหรับใครที่ร้องไห้อยู่ ไม่ต้องร้องแล้วนะ

 

เพราะบทความนี้จะเผยวิธีการและเคล็ดลับที่คนปล่อยเช่าคอนโดอยู่อาจจะไม่ค่อยอยากจะบอกใครเพราะแอบเก็บไว้รวยคนเดียว 555

แต่วันนี้อารมณ์ดี เลยอยากเล่าให้ทุกคนที่ยังปล่อยเช่าคอนโดไม่ได้ ได้เจอกับลูกค้าคู่แท้เสียที แล้วรับเงินค่าเช่าไปแบบแฮปปี้ๆ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องปิดห้องให้ฝุ่นนอนกันอีกต่อไป

 

ใครเคยเจอปัญหาปิดห้องคอนโดไว้เฉยๆ ให้ฝุ่นให้อากาศนอนเล่นอยู่บ้าง หรือบางทีไปโพสต์หาคนเช่าแต่ทำไมคนที่โทรมา Line มามีแต่เอเจนซีเต็มไปหมด ไม่เห็นจะมีลูกค้าตัวจริงมาบ้างเลย หรือบางทีไปเปิดห้องให้ลูกค้าดูแล้ว ลูกค้าก็ยังไม่เอา ไม่ชอบ ไม่เช่า โอย อยากร้องไห้เพราะอุตส่าห์เสียเวลามาเปิดห้องแต่ดันปิดสัญญาเช่าไม่ได้สักที เฮ้อ อยากได้ตังค์จังเลย (โว้ย)

 

ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาหาคนเช่าไม่ได้ มันล้วนมีสาเหตุ

 

ลองเอา Problem Solving Thinking Tool ที่เรียกว่า อริยสัจ 4 มาใช้ได้เลยครับ

1. ทำความเข้าใจสถานการณ์ของปัญหานั้นๆ (Understand the current situation) หรือที่เรียกว่า ทุกข์

2. หาสาเหตุของปัญหา (Identify the root cause of the problem) หรือเรียกว่า สมุทัย

3. คิดแผนงานว่าจะแก้ไขปัญหาแนวทางไหนได้บ้าง (Develop an effective action plan) หรือเรียกว่า นิโรธ

4. ลงมือแก้ไขจนกว่าปัญหาจะหมดไปและปรับแผนถ้าจำเป็น (Execute until the problem is solved and making modification as necessary) หรือเรียกว่า มรรค

แผนผังวิธีคิดแก้ปัญหา

ภาพจากหนังสือ Problem Solving 101 เขียนโดยKen Watanabe https://www.amazon.com/Problem-Solving-101-Simple-People/dp/1591842425

 

หลังจากเราเข้าใจ Problem Solving Thinking Tool ไปแล้ว งั้นเราลองมาเริ่มที่เคสปัญหาของเราที่หาคนเช่าห้องไม่ได้กันเลยครับ

 

วิธีแก้ปัญหาไม่มีคนเช่าคอนโด

ขั้นตอนที่ 1 เราต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของเรา โดยการเปิดใจ ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองเสียก่อน (Open minded) เราลองมาดูห้องของตัวเองสิว่ามันขาดตกบกพร่องยังไง ลองวิจารณ์ห้องของตัวเองในมุมมองลูกค้า ถ้าใครคิดว่าผลงานของตัวเองสมบูรณ์แบบแล้วแต่ถ้ามันยังหาคนเช่าไม่ได้ก็ถือว่าไม่สมบูรณ์แบบจริง เพราะคิดทำแบบเดิมนี้แล้วทำไมยังมีปัญหาอยู่อีกละ เราต้องกล้าทุบความคิดเห็นของตัวเอง หรือถ้าใครมองปัญหาตัวเองไม่ออก ลองให้เพื่อนที่ฝีปากกล้า กล้าพูด กล้าวิจารณ์มาให้ความเห็นเกี่ยวกับห้องดูแล้วจะพบข้อเท็จจริงที่เรามองข้าม หลายคนแต่งห้องไปแล้วอย่างหรูอย่างดี ลงทุนเงินไปแล้วตั้งแพง แต่อย่าลืมว่าตัวเองคิดเองเออเองคนเดียวไม่ใช่ลูกค้าบอกว่าหรูและดีสักหน่อย ลูกค้าดูรูปห้องหรูดีของเราแล้วอาจจะคิดว่าดูเห่ย ดูแย่ ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าเราจะเสียตังค์ไปมากเท่าไหร่แต่ถ้ามันไม่สวยในสายตาลูกค้า จะแต่งไปแพงเป็นล้านลูกค้าก็ไม่เห็นคุณค่า ยังไงลูกค้าก็ไม่ชอบ ไม่เอาห้องเราอยู่นั่นเอง ฮือๆ

 

เอาเป็นว่าขั้นตอนแรกนี้เป็นเรื่องของการจัดการกับความคิดของเจ้าของห้องล้วนๆ ครับว่าจะยอมทุบตัวตนตัวเอง (ที่ไม่เวิร์ก) ทิ้งออกเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าในอนาคตหรือไม่ ถ้าไม่กล้าทุบเพื่อเปลี่ยนก็ต้องขอบอกว่าปัญหาก็จะยังคงอยู่ต่อไปแน่นอน แต่ถ้ายอมเปลี่ยนแปลงได้ ก็ยินดีด้วยครับ แสดงว่าปัญหาได้รับการแก้ไขไปแล้วหนึ่งขั้น!

 

หลังจากที่เรายอมรับความผิดพลาดไปแล้ว ขั้นต่อมาคือเราต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา สาเหตุสำคัญที่ห้องเราไม่มีคนเช่าก็คือ “ห้องเรา” กับ “ลูกค้าเรา” ยังไม่พบปะเจอกันสักทีนั่นเอง นั่นก็มาสู่ขั้นตอนที่ 2 ครับ

 

ขั้นตอนที่ 2 เลือกลูกค้าที่เราอยากได้จากกลุ่มลูกค้าที่มีในตลาด (Select your customer) ข้อนี้ฟังดูแปลกๆ ว่า ในสถานการณ์หาคนเช่าไม่ได้แบบนี้เนี่ยเหรอที่เราจะมีสิทธิ์เลือกลูกค้าได้?? ขอย้ำว่าใช่ครับ เรายังคงเลือกลูกค้าที่เราต้องการได้ แต่! ต้องเป็นลูกค้าที่มีอยู่ในตลาดเท่านั้นครับ คำว่าลูกค้าในตลาดนั้นอาจจะหมายถึงลูกค้าส่วนใหญ่ หรือส่วนน้อยก็ได้ ทุกคนล้วนเป็นลูกค้าของเราทั้งนั้น ถ้าเราอยากให้ลูกค้าส่วนใหญ่มาเช่าห้องเรา เราก็ต้องทำห้องของเราให้ลูกค้าส่วนใหญ่ในตลาดชอบ ดีไซน์ ฟังก์ชั่น ราคา ออกมาต้องใช่ต้องโดนสำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราอยากจับลูกค้าส่วนน้อย ลูกค้ากลุ่มเล็ก เราก็ต้องตัดสินใจให้ดีว่าจะเลือกใครมาเป็นลูกค้าเรา แล้วออกแบบห้อง ทำทุกอย่างให้เหมาะสมกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มของเราให้ได้โดนใจ

 

เราต้องมองตลาดรวมว่า ปัจจุบันคู่แข่งอื่นๆ เขาทำยังไงกันบ้าง ถ้าคู่แข่งเขาจัดห้องแบบเอาใจส่วนใหญ่ เราก็ copy เลือกจัดห้องแบบเขาเลยก็ได้ หรือจะปรับปรุงนิดหน่อยแต่ให้สไตล์คล้ายๆ กัน แล้วตั้งราคาให้ล้อไปกับกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ห้องของเราเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนกลุ่มใหญ่ โอกาสในการเช่าได้ก็อาจจะสูงขึ้นตาม

 

เราก็ควรไปส่องห้องอื่นๆ แนะนำให้เข้าไปดูในเว็บไซต์ www.zmyhome.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีเฉพาะเจ้าของห้องมาโพสต์เท่านั้น แล้วค้นหาชื่อโครงการของเรา หลังจากนั้นจะสามารถดูข้อมูลได้ว่ามีห้องไหนที่ “เช่าแล้ว” ไปบ้าง ดูสิว่ารุ่นพี่เขาทำกันยังไงถึงปล่อยเช่าได้ ดูรูปห้องที่เช่าแล้วว่าตกแต่งสไตล์ไหน มีเฟอร์นิเจอร์อะไรให้บ้าง ภาพถ่ายของเค้าสวยยังไง เขียนบรรยายแบบไหน แล้วเอามาเปรียบเทียบกับของเราว่าเราต้องปรับปรุงยังไงบ้าง

 

ข้อมูลอันล้ำค่าใน zmyhome.com

แต่ถ้าเราไม่อยากใช้กลยุทธ์ me too ไม่อยากจับตลาดกลุ่มใหญ่เพราะคิดว่าตลาดกลุ่มนี้น่าจะเริ่มตันเริ่มเต็มแล้ว การฉีกแนวออกไปทำห้องที่จับกลุ่มเฉพาะก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่เราต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้นอีกเยอะว่า “ใครคนนั้น” จะมาเป็นลูกค้าเรา

 

ถ้าเราจะมาแนวแตกต่าง เราต้องมี “ความแม่นยำ” ไม่ใช่จะจัดห้องใหม่ส่งเดช อยากแต่งห้องให้มีหัวกวางเขาควายซาฟารีปูพรมทาสีผนังแดว แล้วบอกว่านี่ไงแตกต่างแล้ว ไม่ใช่! เราต้องเลือกลูกค้าอย่างแม่นยำ โดยการหาข้อมูลก่อนว่าลูกค้าแถวนั้นโดยกว้างๆ แล้วจะเป็นคนแบบไหนบ้าง หลังจากนั้นเราก็มาเขียน Persona ของลูกค้าน่าจะเป็นอย่างไร แล้วที่เหลือคือการออกแบบพฤติกรรมภายในห้องที่ตรงใจกับ Persona ที่เราเลือกมา

 

การทำ Persona ลูกค้า คือการมโนคิดเองจากข้อมูลที่เรามีอยู่ในปัจจุบันว่าลูกค้าในฝันของเราน่าจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ รายได้แค่ไหน รสนิยม พฤติกรรม การจับจ่าย ไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไร ยิ่งข้อมูลใน Persona ลึกมากแค่ไหน เรายิ่งมองเห็นภาพลูกค้าตัวเป็นๆ ได้ดีและจะทำให้เรา “แม่นยำ” มากขึ้น

 

ตัวอย่างการทำ Persona

PERSONA ลูกค้าคอนโดมิเนียมของฉัน

ชั้น xx ขนาด xx.xx ตร.ม. โครงการ xxx วิวxxx ทิศxxx ราคาเช่าที่คาดหวัง xxx บาท

 

แบบฟอร์มข้างบนเปลี่ยนแปลงได้เอง เพิ่มลดความละเอียดของข้อมูลได้ตามใจชอบครับ เราอาจจะเขียน Persona เองหรือจะระดมสมองให้เพื่อนช่วยเขียนกันหลายๆ คนก็ได้  และจะเขียนข้อมูลในช่องไหนก่อนก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

 

สรุปแล้วข้อมูลทั้งหมดที่เราถืออยู่จะช่วยให้เรามองออกว่าลูกค้าของเราจะเป็นใคร แต่ก่อนเลือก Persona หลักที่เราจะเอามาเป็นกลุ่มลูกค้าเฉพาะของเรา เราควรประเมินก่อนว่าลูกค้าคนนี้น่าจะมีเงินกี่บาท เพราะกำลังเงินในการซื้อนั้นสำคัญครับ ใครๆ ก็อยากได้ของดีๆ แต่มีพลังเงินซื้อไหมนั่นคนละเรื่อง เราจึงต้องหาจุดที่ลูกค้าที่ใช่ กับราคาที่ใช่ให้มาเจอกันให้ได้ครับ

 

คัดเลือก Persona ที่เข้ารอบมาสัก 2-3 Persona หลังจากนั้นไปสู่ขั้นตอนต่อไปเลย

 

ขั้นตอนที่ 3 วางงบประมาณลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าที่เลือกไว้ตามสถานการณ์ (Budgeting) หลังจากที่เราเลือก Persona ลูกค้าที่น่าจะเหมาะกับเราได้แล้ว เราก็ต้องมาตั้งงบประมาณกันว่าจะลงทุนกับการปรับปรุงครั้งนี้ประมาณกี่บาทกันดี ซึ่งงบประมาณตรงนี้อยู่ที่สถานการณ์ของเจ้าของห้องแต่ละคนเลยนะครับ บางคนอาจจะอยู่ในสถานการณ์ห้องยังเป็นห้องโล่งๆ ห้องเปล่าๆ ก็จัดตกแต่งห้องได้เต็มที่โดยมีงบประมาณในใจ แต่ถ้าใครพลั้งพลาดใช้เงินแต่งห้องไปแล้ว จะกลับตัวก็ไม่ได้ ทำไงได้ Built-in หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ลงไปเยอะแล้ว จะให้มารื้อมาถอนทีหลังก็เสียดายเงิน

ถ้าสมมุติเราลงทุนไปเยอะแล้ว วิธีการที่เราอาจจะใช้คือการไม่ลงทุนใหญ่เพิ่ม แต่จะลงทุนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มเติม เช่น ถ่ายรูปใหม่ด้วยการจ้างช่างภาพมือโปร ภาพห้องจะได้สวยๆ ดูน่าเช่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ก็เอาอันเดิมๆ หรือเพิ่มเติม prop วางลงไปให้ดูสดชื่นน่าอยู่ เป็นต้น

 

ถ้าห้องเรายังเปล่าๆ โล่งๆ สถานการณ์แบบนี้ก็ดีเลยครับ ให้เราหยิบ Persona ลูกค้าขึ้นมาพิจารณาว่า ถ้าลูกค้าลักษณะแบบเดียวกับ Persona จะมาเช่า “เขาต้องการอะไรบ้าง” และอีกอย่างที่ต้องคิดด้วยคือ “เขาไม่ต้องการอะไรบ้าง” เพราะหลายครั้งที่เราจัดเต็มทุกสิ่งอย่างให้ลูกค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าเขาจะต้องการนะครับ ดังนั้นการเอาใจลูกค้าให้ “ตรง” กับความต้องการจะเป็นจุดที่โอเคสำหรับเราและลูกค้าครับ ซึ่งนั่นคือขั้นตอนที่ 4

 

ขั้นตอนที่ 4 ออกแบบห้องให้โดนจิตโดนใจลูกค้าที่เลือกไว้ (Design with customer’s mind)

นอกจากเราต้องดูเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ห้องของเราขายออกได้ค้ือความแม่นยำในการเลือกลูกค้าและการออกแบบห้องให้ตรงกับหัวใจของลูกค้าที่เราหมายมั่นไว้ครับ

 

ยกตัวอย่างการพิจารณา Persona ดูงบประมาณ และการออกแบบจากหัวใจลูกค้า

เราหยิบ Persona ลูกค้าขึ้นมา โอเค…คอนโดของเราตอนนี้ผ่อนอยู่ประมาณเดือนละ 15,000 บาท ก็อยากได้ค่าเช่าเดือนละ 12,000-15,000 บาทก็พอจะโอเค ถ้าเลือกลูกค้าที่อยู่ด้วยกันเป็นคู่น่าจะดี เพราะช่วยกันจ่ายค่าเช่าได้ ถ้าลูกค้าจ่ายคนเดียวน่าจะยาก งั้นหยิบ Persona ลูกค้าคนที่มีคู่ขึ้นมาก็แล้วกัน  โอเค..ลูกค้าคนนี้อยู่กับแฟน แต่ยังไม่แต่งงานนะ อายุประมาณ 27-34 ปี คนนึงทำงานออฟฟิศราชการอยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยนั่งรถไฟฟ้าไป ส่วนแฟนทำงานเอกชนอยู่แถวราชพฤกษ์ขับรถไป โอเค… ห้องของเราขนาด 24 ตร.ม. เอ…อยู่กันสองคนแบบนี้น่าจะอึดอัดไปไหมนะ งั้นเราจะเพิ่มพวกตู้เก็บของ ชั้นลอยเหนือโซฟาอีกดีไหมนะ ชั้นลอยกี่บาทนะ โอเคจดๆ แต่เอ…คนเป็นคู่เขาไม่เลือกเอาห้องที่ใหญ่กว่านี้หน่อยเหรอ โอเค…ไหนลองหาข้อมูลว่ารอบๆ โครงการเรามีห้องไหนที่กว้างๆ ใหญ่ๆ และราคาพอๆ กับเราบ้างนะ โอ้โห ยังมีเยอะเลยนี่นา หรือว่าเราจะต้องลดราคาต่อเดือนลงไปเดือนละ 10,000 บาทเพื่อเลือกคนเช่าที่อยู่แบบโสด อยู่คนเดียว แต่คนโสดจะมีเงินพอจ่ายไหมนะ อืม…ก็อาจจะมีนะ คนที่อยู่เป็นโสดแต่มีรายได้สูงก็มี โอเค งั้นลองหยิบ Persona คนโสดขึ้นมาดูหน่อยสิ คนโสดคนนี้น่าจะทำงานที่บริษัท XYZ รายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ…บาท เขาโสดและยังไม่มีภาระการเงินอะไร ไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมืองกรุง คนนี้เขาเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง เป็นคนเจ้าชู้หน่อยๆ สาวเยอะ โอเค คนนี้น่าจะต้องการห้องที่มีเตียง โอเคมากๆ หน่อย ห้องที่อยากได้น่าจะโล่งๆ แต่งน้อยๆ แต่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีตู้เก็บของที่เอาไว้เก็บของรกๆ ไว้ได้ เขาคนนี้น่าจะต้องการทีวีใหญ่ๆ หน่อยและต้องเป็น Smart TV ด้วย แต่เรื่องทีวียังไม่ซื้อดีกว่า เดี๋ยวค่อยถามคนเช่าว่าอยากได้แบบไหนค่อยซื้อให้เขาละกัน เครื่องซักผ้าน่าจะต้องการด้วย แต่คงต้องเป็นเครื่องซักผ้าที่ใช้เวลาซักไม่นานมากและขนาดไม่ใหญ่มากเพราะคิดว่าเขาคนนี้ไม่น่าจะมีเวลามาก ส่วนใหญ่คงจะส่งซักส่งรีด ส่วนเครื่องซักผ้าคงเอาไว้ซักเล็กๆ น้อยๆ เร่งด่วนมากกว่า งั้นเราให้เป็นเครื่องฝาบนราคาประมาณไม่เกิน 8,000 บาทก็แล้วกันเพราะไม่เน้น ราวตากผ้าต้องให้ด้วยแบบแขวนข้างบนเพราะเขาตัวน่าจะค่อนข้างสูงหน่อยเอื้อมถึงได้ ต่อไปโซฟาคงต้องเท่ๆ หน่อย เป็นแบบนั่งได้นอนได้ด้วยก็ดี ทำจากผ้าน่าจะสบายกว่า ไม่เอาแบบหนังเทียมเพราะนั่งกับสาวนานๆ มันร้อน ขอจำกัดงบโซฟาไว้ที่ไม่เกิน 20,000 บาทก็แล้วกัน โต๊ะกินข้าวจำเป็นไหมนะ คงไม่น่านะ เพราะหนุ่มคนนี้ไม่ทำอาหารกินเอง คงจะซื้ออาหารง่ายๆ บนห้อง ไม่ก็ชอบกินข้าวนอกบ้านมากกว่า งั้นให้โต๊ะข้างโซฟาเอาไว้วางของก็แล้วกัน ราคาไม่เกิน 8,000 บาท  แล้วเปลี่ยนมุมโต๊ะกินข้าวแบบ full option ให้เป็น Bar เล็กๆ เท่ๆ มีเก้าอี้ stool น่าจะเหมาะกว่า ราคาประมาณ XXXX บาทก็แล้วกัน…

 

ตัวอย่างการคิดก็จะเป็นประมาณนี้ครับ ระหว่างที่เราเอา Persona มาพิจารณาไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มมองเห็นทิศทางว่ากลุ่มลูกค้าไหนที่ใช่หรือไม่ใช่สำหรับห้องของเรา และในที่สุดเราจะเห็น Persona ลูกค้าที่มีความเป็นไปได้กับเรื่องเงินต่างๆ ของเราได้มากที่สุด ก็ให้คัดเลือก Persona ตัวนั้นยึดเป็น Main Persona หลักของเราได้เลย และในขณะเดียวกันเราก็จะหาคำตอบได้ว่าเราจะออกแบบห้องแบบไหนที่จะเหมาะสมกับลูกค้าใน Persona ของเราได้ตรงใจเขามากที่สุดครับ ซึ่งจะช่วยให้เรายิงตรงเป้าลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ไม่มีหลุด

 

ศิลปะด้านการตกแต่งห้องนี้ฝึกฝนได้ครับ ถ้าเราเป็นคนที่เลือกของไม่เป็น ไม่เก่ง หนึ่งในวิธีแก้ไขคือ copy แนวคิดของห้องสวยๆ ตามเว็บไซต์แต่งบ้านหรือในโบรชัวร์ขายเฟอร์นิเจอร์มาเลยครับ ลอง copy ไปเลย นั่นคือทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าเราอยากเก่งมากขึ้นอีก ให้ copy แล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นสไตล์เราบ้าง แต่ถ้าไม่มีเวลาก็จ้างเลยครับ จ้างดีไซเนอร์ที่อยู่ในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ก็ได้ หรือหาเพื่อนที่มีเทสต์การตกแต่งบ้านเก๋ๆ สวยๆ (ที่สวยถูกใจตรงกับใจลูกค้าใน Persona นะครับ ไม่ใช่สวยถูกใจเรา) ก็จงเชิญชวนหลอกล่อพาไปกินข้าวเลี้ยงตอบแทนอะไรก็ว่าไปครับ เพื่อให้เขามาช่วยเราแต่งห้องให้เช่าได้สักที

 

เมื่อเราวางแผนต่างว่าจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าตาม Persona แล้วก็ถึงเวลาลงมือทำตามแผนครับ

 

ขั้นตอนที่ 5 It’s time to sell! มาเริ่มวางห้องเช่าในตลาดตามที่ต่างๆ กันเถอะ

ขอรวบรัดตัดตอนข้ามขั้นตอนการไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ข้ามขั้นตอนรายละเอียดการปรับเปลี่ยนห้อง ขอกระโดดมาถึงขั้นตอนเริ่มขายกันใหม่เลยดีกว่าครับ

 

สมมุติว่าห้องเราปรับโฉมเสร็จตามที่ดีไซน์เอาไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญคือการหาลูกค้า วิธีการหาลูกค้าที่คลาสสิกและเวิร์กที่สุดคือ ปากต่อปากครับ เราอาจจะได้ลูกค้าจากเพื่อนที่เรารู้จักนี่แหละครับ เพราะฉะนั้นก็จงขยันพูดบอกต่อไปเถอะครับว่า เรามีห้องว่างให้เช่าอยู่ เดี๋ยวนี้มี Line ก็ส่ง Link ห้องเช่าของเราให้เพื่อนไปไว้ โพสต์ Facebook สะกดจิตเพื่อนของเราไปวันละครั้งให้มันรู้ว่ามีห้องเราอยู่ เดี๋ยวพอมีใครอยากเช่าห้องพอดีก็ต้องนึกถึงเราเป็นคนแรกๆ 555 ผู้เขียนก็ได้คนเช่าจากวิธีปากต่อปากมาครับ ประหยัดค่าเอเจนซีไปได้อีก เปลี่ยนเป็นเลี้ยงข้าวเพื่อนผู้แสนดีที่แนะนำลูกค้ามา

 

แต่ถ้าสะกดจิตเพื่อนไปแล้วก็ยังไม่มีคนมาเช่า ขอแนะนำให้โพสต์ที่ที่จะมี Agency มาเห็นมาดูเยอะๆ ครับ นั่นคือ www.Zmyhome.com เพราะเป็นเว็บไซต์ที่คัดกรองเฉพาะเจ้าของห้องมาโพสต์ ดังนั้นผลคือก็จะมีแต่ Agency นี่แหละครับเข้ามาหา Listing ไปขายห้องของเราให้ ผู้เขียนก็เคยได้ลูกค้าจากช่องทางนี้ผ่าน Agency ครับ

 

แต่ถ้าลูกค้าของเราเป็นชาวต่างชาติ ก็ต้องเจาะลึกอีกว่าชาติไหน ถ้าเป็นฝรั่งอาจจะต้องไปโพสต์ไว้ที่ Craiglist ที่นิยมสำหรับชาวต่างชาติ หรือ DDproperty เขาก็รู้จักนะครับ และมีอีกเว็บไซต์ที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยคือ Hipflat ครับ ที่นี่มีห้องเยอะ แต่ข้อมูลซ้ำก็เยอะเช่นกัน

 

นอกจากนี้ถ้าลูกค้าเราเป็นคนจีน อีกช่องทางที่จะหาคนเช่าระยะยาวได้ด้วยคือ Airbnb ครับ เพราะคนจีนมีพฤติกรรมหาห้องเช่าทั้งระยะสั้นและระยะยาวในไทยด้วย Airbnb ครับ เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ

 

ถ้าลูกค้าของเราเป็นคนไทย ก็มีหลายเว็บ หลายระดับลูกค้า เช่น Thaihometown, Renthub, DotProperty, Kaidee, Baania, Estopolis, Nornn และอีกช่องทางที่สะดวกคือ Facebook Marketplace เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีใน Group คอนโดใน Facebook ต่างๆ อีกมากมาย ลอง search คำว่า “condo” หรือ “คอนโด” ใน Facebook แล้วกด filters ตรงคำว่า Groups จะมีหลาย group ขึ้นมาเต็มจอ

นอกจากสถานที่ที่เราเอาห้องไปโพสต์ขายแล้ว สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ภาพห้องของเรานี่แหละครับ ภาพยิ่งสวย ยิ่งขายออกง่าย ยิ่งเพิ่มอัตราคนสนใจดูมากขึ้น เคล็ดลับการถ่ายภาพห้องให้ดูน่าเช่า ลองอ่านเองที่นี่ครับ https://www.airbnb.com/help/article/746/how-can-i-take-great-photos-of-my-listing ผมคิดว่าเขาเขียนไว้ค่อนข้างดีมากและทำตามได้ง่าย แต่สรุปสั้นๆ ได้ เช่น ควรมีรูปหลายๆ มุม ภาพต้องไม่แตก จงถ่ายรูปแนวนอน จงทำความสะอาดจัดห้องก่อนถ่าย อย่าให้ห้องรก ถ่ายรูปตอนกลางวันที่มีแสงแดดให้ห้องดูสว่างๆ ถ่ายจุดเด่นภายในห้อง ถ่ายตอนที่มีแสงดีๆ และควรมีเก็บภาพ Highlight เด่นๆ ให้ถ่ายช่วงที่ได้แสงสวย Golden Hour เพื่อสร้างอารมณ์ของภาพให้สวยงาม แต่ถ้าภายในห้องแสงน้อยอาจจะต้องใช้โปรแกรมแต่งแสงหรือ app ช่วยแต่งรูป ถ่ายให้เห็นมุมห้องจะทำให้ห้องดูกว้างมากกว่าถ่ายไปที่ผนังอย่างเดียว ถ่ายนอกอาคารและสถานที่รอบข้างที่มอบความสะดวกสบายให้กับคนเช่าด้วย เป็นต้น

 

ภาพประมาณการ Golden Hour ของไทย  อยู่ในช่วง 5.48 น. ถึง 6.17 น. และช่วง 17.46 น. ถึง 18.15 น.

ภาพจาก http://www.golden-hour.com/

 

ขั้นตอนที่ 6 ประเมินว่าเวิร์กหรือเปล่า

ขั้นตอนสุดท้ายคือรอดูผลว่ามีใครติดต่อเราเข้ามาบ้างไหม ถ้าทิ้งไว้เป็นเดือนแล้วยังไม่มีใครติดต่อก็ต้องใช้ความพยายามและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเรื่อยๆ ทำขั้นตอนที่ 1-5 กันใหม่ วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอลูกค้าของเรา และอย่าลืมจดบันทึกเบอร์โทรทั้งลูกค้าตัวจริง และ Agency ที่ติดต่อเข้ามาเก็บเอาไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต

 

และหลังจากที่เราปรับปรุงห้อง ปรับปรุงภาพ และทำหลายๆ อย่างมาแล้ว อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยให้ให้เราสบายใจมากขึ้นคือการไหว้ศาลพระภูมิครับ ด้วยแรงจิตอธิษฐานน่าจะช่วยให้ร้ายกลายเป็นดีได้ แรงการกระทำบวกแรงจิตคาดว่าจะช่วยได้ดีครับ

 

ขอให้ทุกคนทำดีโชคดีครับ

แหล่งข้อมูล

https://idea-sandbox.com/blog/take-charge-of-your-life-with-problem-solving/

https://wiki.fluidproject.org/display/fluid/Persona+Format

https://www.airbnb.com/help/article/746/how-can-i-take-great-photos-of-my-listing

https://blog.atairbnb.com/top-5-photo-tips-for-a-stellar-listing/?_ga=2.21187954.890154359.1547385703-295947731.1541156147

http://www.golden-hour.com/

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง