8 รูปแบบสถาปัตยกรรมคอนโดที่น่าสนใจ ในรอบปี 2017 ที่ผ่านมา

วศิน จิรสัชฌกร 31 December, 2017 at 17.19 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


นับจากสถาปัตยกรรมกรีกกำเนิดขึ้น กว่าที่จะเป็นคอนโดหน้าตาแบบปัจจุบัน เราใช้เวลากว่า 3,000 ปี ในการแยก ความจริง (the real) อย่างเช่น การใช้งาน และเงื่อนไขต่างๆ ในการออกแบบ  ออกจาก สิ่งที่ปรากฎ (apparent) หรือ รูปแบบสถาปัตยกรรม เมื่อ Form ไม่จำเป็นต้อง follow Function นั่นทำให้รูปแบบคอนโดในปัจจุบันมีความหลากหลาย เป็นอิสระ จนยากที่จะสรุปรูปแบบตามยุคสมัยช่วงเวลาอย่างในอดีตที่เคยทำมา

 

โดยเฉพาะในปี 2017 ที่เพิ่งจะผ่านไป มีคอนโดหลายตัวถูกปล่อยออกมา รวมถึงที่กำลังขายอยู่ หลายโครงการมีรูปแบบคล้ายๆ กัน แต่ก็มีหลายโครงการโดดเด่นออกมาจนต้องจับตามอง

 

ปัจจัยหลักที่กำหนดรูปแบบคอนโดแทนเงื่อนไขเดิมๆ ในอดีต กลายเป็นเรื่องของการตลาด ดังนั้น Developer แต่ละเจ้า จึงต้องมองหา แนวคิด (concept) ใหม่ๆ มาทำให้คอนโด ซึ่งการใช้งานส่วนใหญ่แทบไม่ต่างกัน มี คาแรคเตอร์ (character) ที่ต่างกัน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ และบ่อยครั้ง ก็มีการยำเอาคาแรคเตอร์มากกว่าหนึ่งอย่างมาผสมในโครงการเดียว ไม่ได้แยกขาดจากกันอย่างชัดเจน

ซึ่งในช่วงเริ่มต้นปี 2018 เราจะพาคุณมารู้จักกับ 8 คาแรคเตอร์ร้อนๆ ของคอนโดในปีที่แล้วซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่าในปี 2018 นี้เราก็คงจะได้เห็นการพัฒนาคอนโดในรูปแบบเหล่านี้กันมากขึ้น

 

1. เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Hitech & Innovation)

สำหรับคอนโดที่จัดว่าใช้คาแรคเตอร์นี้ เป็นคอนโดที่แสดงให้เห็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ออกมาผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรม ไม่ใช่คอนโดแบบไหนก็ได้ที่ติดอุปกรณ์ไฮเทค โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้นอกจากสร้างความแตกต่างให้คอนโด สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้คอนโดดีขึ้นด้วย

 

โครงการที่ทำออกมาได้น่าสนใจยกให้ ASHTON Asoke Rama 9 ของ Ananda ด้วย 3 ดีไซน์หลักของโครงการซึ่งเป็นตัวที่กำหนดรูปทรงของอาคารอย่างชัดเจน

ASHTON Asoke – Rama 9 โดย Ananda

ดีไซน์แรก คือ เรื่องการระบายอากาศส่วนทางเดินภายในอาคารก่อนเข้าห้องพักเป็นเอเทรียม (atrium) ช่วยทำให้ทางเดินมีภาวะน่าสบายมากขึ้น ต่างจากคอนโดปกติที่มักจะเป็นทางเดินแคบๆ ยาวๆ และยังเป็นดีไซน์เดียวกับคอนโดสุดฮอตอย่าง IDEO Q Victory ที่เปิดตัวมาพร้อมๆ กัน

ASHTON Asoke – Rama 9 โดย Ananda

IDEO Victory Q โดย Ananda

ดีไซน์ที่ 2 คือการออกแบบให้ทุกห้องเป็นห้องมุม ทำให้ห้องดูกว้างและโล่งขึ้น เพิ่มมุมมองวิว และเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติ

ASHTON Asoke – Rama 9 โดย Ananda

ดีไซน์สุดท้าย คือ สระว่ายน้ำ infinity pool ฟรีฟอร์มไร้ขอบที่ยื่นออกมากลางอากาศมากกว่า 7 ม. ถือเป็นความท้าทายในแง่ของโครงสร้าง

ASHTON Asoke – Rama 9 โดย Ananda

นอกจากนี้ยังมี Developer หลายเจ้าที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาคาร อย่างเช่น MQDC ที่ปล่อยคอนโดไฮเทค WHIZDOM 101 ซึ่งได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 โครงการที่สนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะจากกระทรวงพลังงาน แต่ก็ยังไม่ได้มีผลต่อรูปแบบคอนโดมาก หนักไปที่อุปกรณ์และระบบต่างๆ มากกว่า

WHIZDOM 101 โดย MQDC

หรือแนวคิด Geo fit+ ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากญี่ปุ่นของ Sena โดยเอาความใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยมาพัฒนาคอนโดให้ดีขึ้น แต่ก็ยังเห็นไม่ชัดมากในรูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกเช่นเดียวกับ WHIZDOM 101 จะอยู่ในอินทีเรียและการจัดการ

แนวคิด Geo fit+ ของ เสนา

 

2. มีราคาแบบคลาสสิค (Classic & Luxury)

 

การหยิบเอาองค์ประกอบ (element) ของสถาปัตยกรรมที่ยังมีการตกแต่งประดับประดาก่อนยุคโมเดิร์น (Modern) มาใช้ อย่างเช่น ยุคคลาสสิค เป็นเทคนิคหนึ่งที่ทำให้อาคารดูแพงและสวยงามเหนือกาลเวลา แต่ก็บอกเลยว่าไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เพราะถ้ามือและงบไม่ถึงจริงๆ ก็เสี่ยงที่จะออกมาดูบ้ง ดูลิเก จึงอาจเห็นได้ไม่บ่อยนักสำหรับคอนโดที่มีคาแรคเตอร์แบบนี้

 

คอนโดตัวจี๊ดระดับยานแม่ของคอนโดสไตล์นี้คงต้องปูพรมแดงแหวกทางเดินให้ 98 Wireless ของ แสนสิริ  คอนโดที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดในปัจจุบัน ที่ผ่านการปลุกปั้น และไม่รู้ว่าแอบมีการปลุกเสกมาด้วยหรือป่าว นานกว่า 7 ปี

98 Wireless โดย แสนสิริ

ความยากอีกอย่างคือการนำองค์ประกอบที่เคยใช้ตกแต่งในอาคาร Low rise ในอดีต มาใช้ออกแบบคอนโด High rise ให้เข้ากันและลงตัว แม้จะมีงานตัวอย่างในต่างประเทศให้เห็นบ้าง แต่เมื่อเป็นอาคารในประเทศไทยก็คงต้องมีหลายจุดที่ผู้ออกแบบจะต้องคำนึง

98 Wireless โดย แสนสิริ

แม้กระทั่งอินทีเรียภายในก็ยังทำได้อย่างสมบูรณ์ไม่มีหลุดธีม

98 Wireless โดย แสนสิริ

นอกจากนี้บางครั้งเราอาจจะเห็นในลักษณะการนำมาใช้เพียงบางส่วน เช่น ส่วนฐาน หรือส่วนยอด อย่างโครงการ Knightsbridge Collage รามคำแหง ของ Origin ที่เปิดตัวมาพร้อมๆกับอีก 3 โครงการ

Knightsbridge Collage รามคำแหง โดย Origin

 

3. มีราคาและทันสมัย (Modern & Luxury)

 

ปี 2017 น่าจะเป็นปีทองที่ Developer ปล่อยคอนโดระดับ Luxury กันมาเยอะมาก อาจเป็นเพราะต้นทุนที่ดินที่พุ่งขึ้นมา จนทำคอนโดราคากลางๆ กันไม่ไหว เว้นแต่จะขยับไปนอกกรุงเทพ หรือห่างรถไฟฟ้าเกิน 1 กม.ขึ้นไป ด้านสถาปนิกเองก็น่าจะชอบการออกแบบสไตล์นี้ เนื่องจากพอจะมีงบให้ใส่ลูกเล่น โดยไม่ต้องยึดติดกับรูปแบบยุคก่อนที่เคยมีมา ทำให้สามารถครีเอทรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ภายใต้ข้อแม้ว่าทำออกมาแล้วต้องยังดูแพง

 

จริงๆ Developer แต่ละเจ้าก็ทำออกมาได้ดีหลายโครงการ แต่ที่โดดเด่นจนต้องขอหยิบมาพูดถึง ยกให้ THE ESSE at Singha complex ของ Singha Estate บนที่ดินที่เคยเป็นสถานฑูตญี่ปุ่นเดิม เนื่องจากดูมีคาแรคเตอร์ที่เด่นชัด และสร้างการจดจำได้ดีที่สุด ซึ่งพิจารณาในภาพรวมพร้อมกับอาคารออฟฟิศทาวน์เวอร์และส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้า ไม่ได้เจาะจงเฉพาะตัวคอนโดเพียงอย่างเดียว

THE ESSE at Singha complex โดย Singha Estate

THE ESSE at Singha complex โดย Singha Estate

WISH Signature Midtown Siam II ของ สยามนุวัตร คอนโดติดพารากอนก็เป็นอีกโครงการที่ทำออกมาได้ดูดี ด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยม 3 ก้อน ที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ มีการลำดับ ส่วนฐาน ส่วนตัว และส่วนยอด

WISH Signature Midtown Siam II ของ สยามนุวัตร

WISH Signature Midtown Siam II ของ สยามนุวัตร

Magnolia Ratchadamri Boulevard ของ MQDC ได้รับแรงบันดาลใจจากเส้นสายโค้งของกลีบดอกแมกโนเลีย สร้างความแตกต่าง (contrast) จากเส้นตรงของอาคารรอบข้าง ทำให้ดูเด่นขึ้นมา นอกจากนี้เส้นสายโค้งยังทำให้อาคารมีความอ่อนหวานดูเป็นผู้หญิง (feminine)

Magnolia Ratchadamri Boulevard โดย Magnolia

 

4. ภูมิทัศน์ (Landscape)

คอนเซปต์ที่เกี่ยวกับต้นไม้สีเขียวๆ ยังคงขายได้เสมอสำหรับชีวิตในเมืองที่โหยหาธรรมชาติ ล่าสุด Google พึ่งเปิดโปรเจคสำนักงานใหม่ในกรุงลอนดอน  โดยมีจุดเด่นที่ Landscape ด้านบน ซึ่งคาดว่าจะเป็นเทรนใหม่ของสถาปัตยกรรมในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า

สำนักงาน Google กรุงลอนดอน

ขณะที่ไทยเองก็มีหลายเจ้าที่ให้ความสนใจกับเรื่อง Landscape บนอาคารอย่าง IDEO MOBI พระราม 4 ของ Ananda ที่มีการออกแบบ Landscape บนอาคารคล้ายภูเขา เชื่อมพื้นที่สวนสีเขียวด้านล่าง ต่อไปจนถึงสระว่ายน้ำฟรีฟอร์มที่อยู่บนชั้น 7

IDEO MOBI พระราม 4 โดย Ananda

ลักษณะเป็นเหมือนภูเขาให้วิ่งออกกำลังกายได้ รับรองว่าต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอีกเยอะกว่าการวิ่งแนวราบแน่นอน

IDEO MOBI พระราม 4 โดย Ananda

อีกโครงการที่มีคาแรคเตอร์นี้ คือ Ashton Residence 41 กับสวนแนวตั้ง (vertical garden) สูง 8 ชั้น ที่ช่วยทำให้อาคารมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกเยอะ ทั้งที่แทบไม่มีที่ให้ปลูกต้นไม้บนพื้นเลย แต่ก็ต้องมาดูกันว่าหลังจากเปิดใช้งานไปสักพัก จะจัดการกับต้นไม้พวกนี้ให้ดีเช่นเดิมได้หรือไม่ ยังไงๆ ก็ต้องให้คะแนนกับความกล้าในการออกแบบของ Ananda

ASHTON Residence 41 โดย Ananda

ASHTON Residence 41 โดย Ananda

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่มีจุดขายเป็นสวนขนาดใหญ่บนพื้นดิน ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อรูปแบบคอนโดโดยตรง อย่าง Park 24 ของ Origin ที่เพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ และ THE FORESTIAS ของ MQDC โครงการ Mixed Use ที่จะสร้างระบบนิเวศน์เป็นของตัวเองบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ย่านบางนา – ตราด กม.7 ที่เพิ่งเปิดตัวออกมา

Park 24 โดย Origin

THE FORESTIAS โดย MQDC

 

5. ศิลปะ (Art)

 

นับจากอดีตงานศิลปะดังๆ ถูกสร้างให้คนชั้นสูง เพราะเป็นผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูศิลปิน และศิลปะเองก็ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานที่คนทั่วไปหาเช้ากินค่ำในยุคนั้นจะให้ความสนใจ ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าคาแรคเตอร์นี้จะถูกนำมาใช้กับคอนโดที่ค่อนข้าง Luxury

 

คอนโดสไตล์นี้ต้องมีความโดดเด่นด้านสถาปัตย์กรรม มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นศิลปะจนมองไม่ออกถึงข้อจำกัดอื่นๆ ในการออกแบบ

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ โครงการ KHUN by YOO inspired by Starck ทองหล่อ 12 ของ แสนสิริ จับมือ YOO Design Studio บริษัทดีไซน์ระดับโลก และ Philippe Starck ที่เนรมิตรให้ทุกตารางมิลลิเมตรเต็มไปด้วยการออกแบบสร้างสรรค์

KHUN by YOO inspired by Starck โดย แสนสิริ

แวบแรกที่เห็นภาพทัศนียภาพ (perspective) ผมว่าคอนโดนี้โดดเด่นเรื่องสัดส่วน (proportion) ที่ลงตัว สังเกตุจากแพทเทิร์น façade สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีทองแดงในส่วนฐาน ที่ถูกจัดระเบียบสอดรับกับเส้นสายแนวตั้งต่างๆ ของอาคาร ความสูงแต่ละชั้นใกล้เคียงความสูงของ façade 3 แผ่น  ขณะทีกรอบหน้าต่างก็ยังคงล้อกับสัดส่วนของ façade โดยมีการยื่นพื้นเพื่อสร้างเส้นสายแนวนอน ทำให้อาคารไม่ดูสูงชะลูดเกินไป ดูมีปริมาตร (Mass)

KHUN by YOO inspired by Starck โดย แสนสิริ

เช่นเดียวกับที่แยกส่วนยอดเพื่อเป็นจุดหยุดสายตา และชั้นบนสุดยังคงรักษาสัดส่วนเดียวกับตัวอาคารในแต่ละชั้น

KHUN by YOO inspired by Starck โดย แสนสิริ

Vittorio ของ AP เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ใช้คาแรคเตอร์นี้ แต่จุดที่ต่างกัน คือ ในขณะที่ KHUN by YOO inspired by Starck วางตัวเองเป็นงานประติกรรมชิ้นใหญ่ แต่ Vittorio กลับดูเหมือนเป็น Art Gallery ที่สวยงาม ซึ่งนอกจากจะเชิญชวนเราให้ดื่มด่ำกับงานศิลปะข้างใน ยังช่วยขับให้งานศิลปะที่แสดงดูเจิดจรัสขึ้นมา

VITTORIO โดย AP

VITTORIO โดย AP

 

6. น้อยและลงตัว (Minimal & Harmony)

 

น้อยและลงตัวเป็นคาแรคเตอร์ที่เล่นยากพอสมควร เพราะตลาดอาจไม่กว้าง และถ้าน้อยจนเกินไป ก็จะดูเหมือนไม่มีอะไร ดังนั้นงานที่เห็นกันทั่วๆ ไป อาจจะไม่มินิมอล 100 % ต้องแอบมีการตกแต่งบ้าง หรือถ้าภายนอกเรียบแล้ว อินทีเรียก็อาจจะต้องจัดเต็มกันสักหน่อย

 

Noble เป็น Developer ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงเมื่อพูดถึงสไตล์นี้ โดยเฉพาะ Noble Ambience สุขุมวิท 42 ที่ฉายแสงออกมาสว่างวาบท่ามกลางหมู่มวลคอนโด High rise ด้วยความน้อยที่เรียบง่ายและลงตัว

Noble Ambience สุขุมวิท 42 โดย Noble

โครงการนี้ดีไซน์ให้ดูเรียบ นิ่ง เฉียบ เรียกว่าใช้ความเงียบสงบสยบความเคลื่อนไหว แล้วปล่อยท่าไม้ตายเป็นระเบียงที่ยื่นออกมาบางยูนิต ทำให้คอนโดไม่ดูจืดชืดเกินไป

Noble Ambience สุขุมวิท 42 โดย Noble

เนื่องจากเป็นคอนโด Low rise การมี façade แนวตั้งจากชั้นล่างถึงชั้นบน ช่วยให้สัดส่วนอาคารดูสูงสง่าขึ้น และช่วยแบ่งสัดส่วนไม่ให้ดูเทอะทะเกินไป

Noble Ambience สุขุมวิท 42 โดย Noble

ขณะที่คอนโด High rise ค่ายเดียวกันอย่าง Noble Around 33 ก็ทำออกมาได้น้อย เรียบ แต่ดูเท่ มีความเป็นผู้ชายมากกว่า Noble Ambience สุขุมวิท 42 ที่ดูอบอุ่น

Noble Around 33 โดย Noble

7. สี (Colour)

 

สีเป็นสิ่งที่มนุษย์รับรู้และจดจำได้เร็ว ดังนั้นจึงมี Developer บางเจ้าที่ใช้สีมาเป็นคาแรคเตอร์ของโครงการอย่าง Major ที่ปล่อยโครงการออกมาพร้อมกันทีเดียว 3 สี เขียว เหลือง ฟ้า ภายใต้แบรนด์ Metris 3 ทำเล ลาดพร้าว พัฒนาการ และพระราม 9 – รามคำแหง ซึ่งก่อนหน้านี้ 5 – 6 ปีก่อน Noble เอง ก็เคยใช้มุกนี้ปล่อยคอนโดสีแดงแถวย่านอารีย์ อย่าง Noble Re:D อารีย์ ออกมา

Metris ลาดพร้าว / พัฒนาการ / พระราม 9 – รามคำแหง โดย Major

Mestyle property เป็น Developer เจ้าเล็กที่ใช้คาแรคเตอร์เรื่องสี จนเป็นจุดเด่นของตัวเองมาตั้งแต่ 5 – 6 ปีก่อน แต่ต่างจาก Metris ของ Major ที่ใช้โทนสีเดียว (Monotone) เพราะ Mestyle จะใช้สีที่หลากหลาย ในแง่การจดจำผมเชื่อมั่นว่าต้องได้แน่ๆ ส่วนด้านอื่นๆ ยังคงไม่แน่ใจ เพราะพูดตรงๆ ว่าการออกแบบสีหลายๆ รวมกันให้ออกมาดูแพงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปราบเซียน

MeStyle @ Sukhumvit – Bangna โดย Mestyle property

 

8. ความโดดเด่น (Iconic)

 

Iconic คือสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น เหมือนมีสปอตไลท์ส่องปั้งเป็นของตัวเองตลอดเวลา สามารถเป็นแลนด์มาร์ค หรือจุดเด่นให้บริเวณที่ตั้ง ซึ่งผู้ออกแบบต้องตั้งใจแต่แรกว่าจะออกแบบให้มีคาแรคเตอร์นี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถควบคุมการออกแบบให้เป็นไปในทิศทางนั้นได้ จากการสังเกตลักษณะอาคารที่เป็น Iconic ต้องเป็นอาคารที่ดูไม่ซับซ้อน คนทั่วไปสามารถรับรู้และเข้าใจภาพรวมได้ง่าย มองออกว่ามีลูกเล่นยังไง ส่วนใหญ่จะเห็นคาแรคเตอร์นี้ในอาคารสำนักงานมากกว่า อย่าง Super Tower ว่าที่ตึกสูงที่สุดแห่งใหม่ของไทยบน ถ.พระราม 9 ที่เป็นแท่งทรงงรีสูงๆ มีแผงทรงรีขนาบสองข้าง หรือ G Tower ที่มีรูปทรงตัว G

 

ก่อนหน้านี้มีคอนโด The River ของ Raimond land เป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูงที่มีแผ่นระนาบโค้งด้านข้าง ตั้งตระหง่านอยู่ริมเจ้าพระยา เป็นจุดโฟกัสให้ช่างภาพจากที่ต่างๆ มาเก็บภาพกัน แต่อาคารก็ยังมีความซับซ้อนในด้านที่เป็นสี่เหลี่ยมทำให้ดาเมจความ Iconic ยังไปได้ไม่สุดทาง

ปัจจุบันคอนโดที่ไปได้สุดจริงๆ ผมยกให้โครงการระดับตำนานที่แสนสิริเพิ่งลงนามซื้อห้องชุดที่เหลือไป อย่าง มหานคร โครงการมีลักษนะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูง และมีลูกเล่นอยู่ที่บางส่วนของแท่งสี่เหลี่ยมหลุดหายออกไปเป็นเกลียว จุดสิ่งสำคัญของคอนโดนี้ คือ คนทั่วไปยังรับรู้ได้ว่าภาพรวมของมันเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ถ้าดีไซน์เนอร์ออกแบบลูกเล่นจนดูไม่ออก จะทำให้งานดูซับซ้อนและเข้าใจยากจนสูญเสียความเป็น Iconic ไป

มหานคร โดย PACE

อีกตัวที่เป็นเหมือนพี่น้องคลานตามกันมาจาก PACE และมีชะตากรรมไม่ต่างกัน คือ นิมิตรหลังสวน ซึ่งเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสูงเรียบกริบ มองเห็นวิวสวนลุม คาดว่าปี 2018 เมื่อสร้างเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสวนลุม

นิมิตรหลังสวน โดย PACE

คาแรคเตอร์ทั้ง 8 แบบที่เลือกนำเสนอ เป็นการยกตัวอย่างคอนโดเด่นๆ ในแต่ละด้านแค่เพียงบางส่วนขึ้นมา จริงๆ แล้วยังมีคอนโดที่น่าสนใจอีกหลายโครงการที่ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึง ทั้งที่มีข้อดีหลายๆ ด้านด้วยกัน ในปี 2017 ที่ผ่านมา Developer แต่ละเจ้าต่างขนจุดเด่นต่างๆ ขึ้นมาประชัน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้สะท้อนออกมาต่อรูปแบบคอนโดอย่างชัดเจน แต่แฝงอยู่ในจุดต่างๆ ของการออกแบบ

 

ยิ่งตลาดอสังหาฯ มีการแข่งขันมากเท่าไหร่ ในปี 2018 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราก็อาจจะได้เห็นแนวคิดใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ออกแบบคอนโด ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเตือนก่อนที่จะเผลอไผลไปกับรูปลักษณ์สวยๆ ของคอนโด คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกช่วยสร้างทัศนียภาพที่ดีให้กับเมือง แต่อย่าลืมคุณภาพชีวิตคอนโดที่เหมาะกับคุณซึ่งอาจอยู่ภายใน”

 

**Credit: ขอบคุณภาพประกอบจาก Official Website และข่าว PR ของแต่ละโครงการ

วศิน จิรสัชฌกร

วศิน จิรสัชฌกร

"อดีตเด็กสถาปัตย์ ขึ้น SketchUp ดราฟ CAD นั่งตัดโม ที่รู้สึกตัวว่าสถาปนิกไม่ใช่ทาง เลยบอกลากับการออกแบบ แต่ก็ยังวนเวียนกับแวดวงอสังหาฯ ชอบดูโครงการสวยๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เลยหาโอกาสมารีวิวโครงการ อยากแชร์มุมมองตรงกลางระหว่างคนใช้อาคารกับคนออกแบบ"

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง