เจาะลึก 5 กรณีศึกษางานดีไซน์ ที่ทำให้ The Lofts Asoke เป็นคอนโดแห่งปี 2015

นันทเดช สุทธิเดชานัย 17 November, 2015 at 18.19 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


คุณ Condo Man เลือก The Lofts Asoke เป็น Best Condo of 2015 ??…อันที่จริงครั้งแรกที่ผมเห็นภาพ Render ของอาคาร The Lofts Asoke ผมรู้สึกเฉยๆ มากๆ อาคารดูเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเรียบๆ ธรรมดา แถมรูปร่างหน้าตาของอาคารยังชวนให้ผมนึกถึงอาคาร Bauhaus เวอร์ชั่นขยายส่วน แต่พอมีโอกาสได้ศึกษาลึกลงไปถึงรายละเอียดการออกแบบ ผมถึงเข้าใจคุณ Condo Man ผมพบว่าทีมผู้ออกแบบให้ความใส่ใจในรายละเอียดมากๆ ปัญหาต่างๆ ถูกแก้ไขอย่างชาญฉลาด มีหลายแง่มุมด้านการออกแบบที่น่าสนใจ ผมได้สรุปออกมาเป็น 5 ประเด็นหลักที่ควรค่าเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้วงการคอนโดเมืองไทยพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปครับ

 

12186805_1663479767225403_7908063773692109212_o

 

Bauhaus

 

 

1. คอนเซ็ปต์อาคารที่มีความต่อเนื่องทั้งอาคาร
Design Concept หรือแนวคิดการออกแบบควรจะเป็นเหมือน guide line กำหนดทิศทางการออกแบบโครงการทั้งหมดในภาพรวม บางโครงการกำหนด Design Concept มา แต่ไม่สามารถทำตามที่วางไว้ได้จริงกับทั้งโครงการ เช่น คอนเซ็ปต์ Loft แต่มีความเป็น Loft ได้แค่ล็อบบี้และส่วนกลางนิดหน่อย ในห้องพักอาศัยกลับไม่มีความเป็น Loft เลย บางโครงการก็ไม่สามารถทำตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ได้เลย เช่น คอนโดมิเนียมโครงการหนึ่งที่วางคอนเซ็ปต์ไว้ว่า “Modern English Style” แต่งานที่ออกมาจริงเลวร้ายจนกลายเป็น Talk of the Town กรณีแบบนี้ Design Concept ก็เป็นแค่เพียงคำสวยหรูที่ใช้ในการสื่อสารการตลาดเท่านั้น

 

ทางเข้า เดอะ ลอฟท์ อโศก

 

สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้จากการออกแบบโครงการ The Lofts Asoke คือที่นี่มีองค์ประกอบของความเป็น Loft อยู่อย่างต่อเนื่องทั้งโครงการตั้งแต่ภายนอกอาคาร เข้ามาถึงส่วนกลางต่างๆ จนถึงการออกแบบภายในห้องพัก และเพื่อทดสอบว่าRaimon Land จริงจังกับความต่อเนื่องของ Design Concept ที่วางไว้กับการออกแบบโครงการแค่ไหน ผมได้ติดต่อทาง Raimon Land และถามถึงคำจำกัดความของคอนเซ็ปต์ “Loft” ในมุมมองของ Raimon Land ว่าตีความไว้อย่างไร ได้คำตอบกลับมา 3 ข้อ:

– A Sense of Space: พื้นที่ต้องมีความกว้าง กว้างทั้งแนวราบและแนวดิ่ง
– Industrial Chic: ต้องสะท้อนถึงจุดกำเนิดของสไตล์ Loft คือสไตล์ Loft เดิมนั้นเริ่มจากการนำโรงงานอุตสาหกรรมเก่ามาดัดแปลงเป็นที่อยู่อาศัย แต่ Loft ของ Raimon Land จะมีความหรูอยู่ในตัวด้วย (Luxurious & Elegant) จึงเป็นคำว่า “Industrial Chic”
– Unconventional: มีความไม่ธรรมดา แตกต่างและพิเศษกว่ามาตรฐานทั่วไป เพราะประเด็นนี้เป็นหัวใจสำคัญในจุดกำเนิดสไตล์ Loft ที่มีคนริเริ่มดัดแปลงโรงงานเป็นที่อยู่อาศัยเพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้กล้าริเริ่มสร้างความแตกต่าง

ผมให้ผู้อ่านตัดสินเองว่า Raimon Land สามารถทำตาม Concept ได้ครบทุกข้อหรือไม่

 

2. การจัดการกับวิวและบริบทรอบอาคาร

 

Lofts-Asofe_Position

 

 

Floor_plan

 

ทีมออกแบบ The Lofts Asoke ให้ความใส่ใจเรื่องวิวมากๆ ถึงแม้ว่าด้านทิศเหนือของอาคารแทบจะติดกับอาคาร 253 อโศก ซึ่งเป็นอาคารสำนักงาน 30 ชั้นสูง 119 เมตร ทิศนี้จึงโดนบล็อกวิวเต็มๆ แต่ทางทีมออกแบบสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างชาญฉลาดจนอาคารนี้ไม่มียูนิตใดที่โดนบล็อกวิวเลย ทุกยูนิตได้วิวเปิดโล่งอย่างน้อย 1 ทิศ

วิธีแก้ปัญหาคือที่นี่เลือกใช้ที่จอดรถแบบ Automated Parking ซึ่งใช้พื้นที่อาคารในลักษณะเป็นปล่องผอมสูง ตั้งแต่ชั้น G ถึงชั้น 21 ต่างจากที่จอดรถธรรมดาที่จะกินพื้นที่ชั้นล่างๆ ของอาคารเต็มพื้นที่ โดยทีมออกแบบนำปล่องจอดรถนี้ไปวางไว้ด้านที่ชนกับอาคาร 253 ทำให้ไม่มีห้องที่หันชนอาคาร 253 แบบเต็มๆ จะมีแต่ห้อง 1A เท่านั้น ซึ่งแก้ปัญหาโดยการถอยร่นอาคารออกจากถนนใหญ่ ทำให้ห้อง 1A พ้นอาคาร 253 พอดี ส่วนห้อง 2B จะได้วิวทิศตะวันออกจากด้านหน้าอาคาร

การตัดสินใจนำระบบ Automated Parking มาใช้กับอาคารแห่งนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว คือ 1) ผู้อยู่อาศัยได้ความหรูหราสะดวกสบายไม่ต้องจอดรถเอง 2) ได้แก้ปัญหาเรื่องวิว 3) ได้ใช้พื้นที่อาคารอย่างมีประสิทธิภาพมากๆ แถมยังได้พื้นที่จอดรถถึง 100%

 

elevation_253

อีกประเด็นเรื่องวิว ที่น่าสนใจมาก คือถ้าลองสังเกตผังด้านข้างของอาคารฝั่งทิศเหนือ จะเห็นพื้นที่ void ขนาดใหญ่เหนือที่จอดรถ Automated Parking ตั้งแต่ชั้น 23-29 พื้นที่นี้เป็นช่องว่างเปล่าๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เหตุผลคือ ส่วนนี้ยังคงโดนบล็อกวิวจากอาคาร 253 จึงไม่ได้ใส่ห้องขายแต่ทำเป็นพื้นที่โล่งๆ แทน และเพื่อใช้ประโยชน์ GFA (Gross Floor Area) หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างได้ตาม FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่ใช้สอยอาคารสูงสุดที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้เทียบกับขนาดที่ดิน) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทีมออกแบบจึงตัดพื้นที่ส่วนนี้และไปเพิ่มความสูงของอาคารและไปสร้างพื้นที่ขายส่วน Duplex บนชั้น31 – 44 แทน ซึ่งกลายเป็นห้อง Highlight ของโครงการ และนี่อาจจะเป็นอานิสงที่ทำให้ห้อง duplex ที่นี่ได้ void ขนาดใหญ่พิเศษ

elevation

ส่วนทิศใต้เป็นกลุ่มอาคารพาณิชย์สูงประมาณ 25 เมตร ถัดออกไปประมาณ 40 เมตร เป็นอาคาร Sukhumvit Living Town สูง 113 เมตร ห้องที่ดูเหมือนจะโดนบล็อกวิวคือห้อง 1B มีชั้นละ 2 ห้อง แต่ด้วยระยะห่างออกไป 40 เมตร ห้อง 1B จะได้วิวแต่เป็นวิวแนวทแยงแทน ส่วนด้านหลังอาคารจะได้วิวสวนจากโรงเรียนด้านหลัง

 

 

3. ทำให้เพดานสูงเปิดโล่ง

 

ceiling-height

 

จุดขายสำคัญของโครงการ The Lofts Asoke คือระดับพื้นถึงเพดานในห้องพักอาศัยที่สูงถึง 3.20 เมตร สูงกว่าคอนโดมิเนียมโครงการอื่นๆ แถมส่วนกลางยังเป็น Double/Triple Volume ทั้งหมด เช่น ล็อบบี้อาคารสูงถึง 18 เมตร เทียบเท่าตึก 5 ชั้นเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องความสูงของเพดานนี้สอดคล้องกับ Design Concept ของโครงการที่ตั้งไว้ คือ “A Sense of Space”

แต่ความสูงระดับ 3.20 เมตรในห้องพัก แลกมาด้วยการไม่มีฝ้ายิปซั่มเหมือนอาคารทั่วไปนะครับ คือเพดานส่วนที่สูง 3.20 เมตรจะเป็นพื้นคอนกรีตของชั้นบน สายไฟต่างๆ จะถูกฝังอยู่ในคอนกรีตเกือบทั้งหมด ส่วนเครื่องปรับอากาศจะฝังอยู่ในฝ้าเพดานส่วนเตี้ย ซึ่งส่วนนี้จะมีฝ้ายิปซั่ม (ไม่ได้สูง 3.20 ทั้งห้อง มีการเล่นระดับ) ทาง Raimon Land บอกว่าเลือกที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบซ่อนเพราะยังคงยึดแนวคิด “Form Follows Function” ของ Bauhaus หมายถึงคำนึงถึงการใช้งานมาก่อนสิ่งอื่น และตามคอนเซ็ปต์ที่จะเป็น Loft ที่มีความหรูอยู่ในตัว จึงไม่เลือกที่จะเดินท่อไฟท่อแอร์เปลือยๆ ดิบๆ เพียงแค่เพื่อจะโชว์ว่าเป็น Loft ผมชอบประโยคนี้ที่เขาตอบมากๆ

 

RML_price-point

 

อย่างไรก็ตามเทคนิคการตัดฝ้ายิปซั่มออกเพื่อเพิ่มความสูงเพดานในลักษณะนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ ไม่แน่ใจใครริเริ่ม แต่ผมเห็นครั้งแรกในคอนโดศุภาลัยที่สร้างเมื่อสิบกว่าปีก่อน คอนโดของ Raimon Land หลายตัวก็ใช้วิธีนี้ เช่น Zire Wongamat, The Lofts Ekkamai, และ UNIXX Soth Pattaya เท่าที่ผมเคยเห็นยืนยันว่าสามารถทำได้เรียบเหมือนฝ้ายิปซั่ม

การที่ไม่มีฝ้ายิปซั่ม ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือไม่สามารถแก้ไขตำแหน่งไฟได้ ซึ่งปกติที่ผมทำออกแบบตกแต่งภายใน ผมจะให้ความสำคัญกับการออกแบบแสงสว่างมากๆ จึงมักมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และจัดวางตำแหน่งไฟใหม่ เชื่อหรือไม่ว่าการจัดวางแสงที่ดีบางกรณีมีผลกับการออกแบบพื้นที่ภายในมากถึง 50% เลยด้วยซ้ำครับ

ได้เพดานสูงแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้ห้องดูโปร่งโล่งคือความสูงของหน้าต่าง ที่นี่จะให้หน้าต่างสูง 3.00 เมตร ใน “บางห้อง” ส่วนบนสุด 20 ซ.ม. จะเว้นเป็นปูนไว้เพื่อติดม่าน บางห้องหน้าต่างอาจไม่ได้เริ่มจากพื้นเพราะจัดให้วางเฟอร์นิเจอร์ แต่ที่ผมผิดหวังคือส่วนที่เป็นประตูระเบียงจะสูงแค่ 2.40 เมตรเท่านั้น เพราะคอมเพรสเซอร์แอร์ (CDU) ถูกแขวนอยู่เหนือประตูระเบียงด้านนอก ถ้าเพดานสูง 3.20 เมตร แปลว่าจะมีผนังทึบเหนือประตูกระจกสูงถึง 80 ซ.ม. เลยทีเดียว ห้องจะออกมาดูทึบตันหรือไม่คงต้องรอดูห้องตัวอย่าง

 

4. ความยืดหยุ่นต่อสไตล์การตกแต่งภายใน

โครงการ The Lofts Asoke ขายห้องแบบ Fully Fitted คือมีพื้น วัสดุผนัง ชุดครัวและตู้เสื้อผ้ามาให้ แต่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวให้ ปัญหาของโครงการทั่วไปที่ขายในลักษณะ Fully Fitted คือสิ่งที่ให้มาไม่ถูกใจลูกค้าและไม่เข้ากับการตกแต่งที่ลูกค้าวางแผนไว้ ถ้าลูกค้ามีงบประมาณและเวลาก็จะรื้อทิ้งทำใหม่ จากประสบการณ์ที่ทำตกแต่งมา ผมรื้อชุดครัวและพื้นใหม่ๆ ทิ้งเยอะมาก เพราะไม่เข้ากับการตกแต่งที่เป็นความต้องการของลูกค้า และขอบอกไว้เลยว่าการรื้องานปูนและขนวัสดุทิ้งในอาคารสูงไม่ใช่เรื่องสนุกเลยล่ะครับ โดยเฉพาะถ้าอาคารมีคนอยู่อาศัยเยอะแล้วยิ่งยุ่งยากและสร้างความรำคาญให้เพื่อนบ้าน ดังนั้นการที่ Raimon Land เสนอสไตล์ภายในห้องให้ลูกค้าเลือกได้ถึง 3 สไตล์เป็นอะไรที่ผมชอบมากๆ โดยเฉพาะ 3 สไตล์ที่ทางโครงการจัดมาให้เป็นโทนสีกลาง สามารถเข้าได้กับการตกแต่งหลากหลายสไตล์ ได้แก่

 

Screenshot_8

 

– Raw: แบบนี้จะเป็นแนวดิบๆ เลย ออกแนว Industrial Loft เข้ากับคอนเซ็ปต์ของโครงการ แม้แต่เพดานก็ให้เป็นปูนเปลือย ซึ่งจะเป็น Sealed Concrete Finish นะครับ คือลงน้ำยาเคลือบมาเรียบร้อยทำให้ดูแลรักษาได้ง่าย ไม่ใช่หล่อปูนมาดิบๆ แล้วจบเลย แต่เป็นที่แน่นอนว่าต้องมีคนไม่ชอบ จึงมีอีก 2 ทางเลือกให้

– Bold: เป็นโทนสีเทาเคร่งขรึม ไม่ดิบเท่าแบบแรก เหมาะกับคนที่ต้องการตกแต่งออกไปทางขรึมๆ นิดนึง สีวัสดุที่จัดมาให้เป็นสีออกโทนเทา ซึ่งเป็นสีกลางสามารถตกแต่งเล่นกับโทนสีอื่นได้เกือบทุกสีตามสไตล์ผู้อยู่อาศัย

– Functional: เป็นสีออกโทนเบจ ค่อนข้างสว่าง เป็นกลาง เหมือนโครงการทั่วๆ ไป

 

5. ตำแหน่งจัดวางและการออกแบบห้อง Duplex

ชั้น 3 – 30 ของอาคารจะถูกจัดวางห้องพักแบบธรรมดา หรือ Simplex ได้แก่ห้องแบบ 1A, 2A, 1B, 2C ส่วนห้องแบบ Duplex หรือ Lofts ถูกแยกไปไว้ด้านบนตั้งแต่ชั้น 31 – 44 เหตุผลคือเพื่อไม่ให้มีจำนวนห้อง Duplex มากเกินไป โครงการอื่นๆ ที่ออกแบบห้อง Duplex มาอยู่ชั้นเดียวกับห้อง Simplex จะมีสัดส่วนห้อง Duplex มากทำให้ขายยาก ข้อดีอีกอย่างที่ผมเห็นคือวิธีนี้ทำให้ห้อง Duplex ด้านบนได้ความรู้สึกเป็นห้องที่พิเศษจริงๆ เพราะมียูนิตต่อชั้นน้อย ได้วิวชั้นสูงเปิดโล่งจากหน้าต่างบานใหญ่ แถมบางห้องยังได้สวนอีก

 

img-L2A_unconventional

 

ห้องลักษณะ duplex ทั่วไปจะมี void ขนาดเล็กเนื่องจากจะเสียพื้นที่ขาย ทำให้ไม่ได้ความรู้สึกเปิดโล่งเท่าที่ควร แต่กลับต้องเสียพื้นที่ให้บันได ทำให้ใช้พื้นที่ได้ไม่คุ้มค่า แต่ duplex ที่ The Lofts Asoke จะได้ void ขนาดกว้างใหญ่มาก เมื่อรวมกับหน้าต่างบานสูงเกือบเต็มเพดาน และวิวจากชั้นสูงๆ จะทำให้ห้อง duplex ที่นี่โปร่งโล่งและสวยมากๆ เพดานที่สูงถึง 5.70 เมตรจะได้ความรู้สึกเป็น Loft จริงๆ ผมจึงมองว่าห้อง duplex ที่นี่คุ้มค่ามาก ผมเดาว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้ void ขนาดใหญ่อาจเป็นเพราะความฉลาดของทีมออกแบบในการบริหารจัดสรร GFA และ FAR

 

img-L2A

 

typeL3B

 

เครดิตทีมออกแบบ

โครงการ The Lofts Asoke ไม่ได้ออกแบบโดยบริษัทสถาปัตย์ชื่อดังที่ไหน แต่ออกแบบโดยทีมออกแบบของ Raimon Landเอง นำโดยคีย์แมน 2 ท่าน คือคุณ Gerard Healy, VP – Development ซึ่งมีดีกรีด้านสถาปัตยกรรม และประสบการณ์ด้านการออกแบบและก่อสร้างมากกว่า 25 ปี และคุณ Andreas Savvides, VP – Design ซึ่งมีหน้าที่ดูเรื่องสถาปัตยกรรมภายในทั้งหมด ตัวอย่างผลงานที่สำคัญคือห้องตัวอย่างที่ 185 ราชดำริ และที่ The River โดยมี ECO.ID เป็นที่ปรึกษาบริษัท และ Belt Collins บริษัทออกแบบระดับโลกที่ก่อตั้งมากว่า 60 ปี รับผิดชอบงาน Landscape Design

 

สุดท้ายขอขอบคุณคุณ Kipsan Beck, VP – Branding & Marketing ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและตอบคำถามผมอย่างละเอียดในทุกประเด็นครับ

 

นันทเดช สุทธิเดชานัย

นันทเดช สุทธิเดชานัย

จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเริ่มงานด้านที่ปรึกษาการตลาดในบริษัท ไอเดีย 360 จำกัด จนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากหลายกลุ่มธุรกิจ จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัวด้านออกแบบภายใน และที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาฯแบบครบวงจร โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการออกแบบภายในที่อยู่อาศัย และมีพันธมิตรที่สำคัญคือบริษัท ฮาว บิวเดอร์ จำกัด รับผิดชอบในส่วนรับเหมาก่อสร้าง และต่อเติมอาคาร เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง