ลงทุนให้คุ้มค่า…ลงทุนสร้างอาคารด้วยแนวคิด Sustainable Architecture

นันทเดช สุทธิเดชานัย 05 February, 2016 at 19.11 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ทำงานออกแบบอาคารร่วมกับ อาจารย์ สรรค์ เวสสุนทรเทพ อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมงานแรกของ บริษัท 8020 Syndicus และของผมเหมือนกัน จากที่ผ่านๆ มา เราเน้นรับงานออกแบบตกแต่งภายในซะมากกว่า

Sustainable-Article_02

จากโปรเจคงานออกแบบนี้ ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่างมาก อย่างหนึ่งที่กำลังอินเทรนด์อยู่ในขณะนี้คือเรื่อง Sustainable Architecture หรือสถาปัตยกรรมยั่งยืน ซึ่งถ้าพูดแค่นี้ หลายคนคงคิดถึงบ้านที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยราคาแพงในการลดการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่อันที่จริงแล้วสถาปัตยกรรมยั่งยืนประกอบด้วยหลายแง่มุมกว้างกว่านั้นมาก และไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงเสมอไป

แล้วสถาปัตยกรรมยั่งยืนมันคืออะไรกันแน่?… ภาษาอังกฤษคำว่า Sustainable หมายถึงอะไรที่อยู่ได้นาน อยู่ได้ยั่งยืนหรืออยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง วันนี้ผมจะเล่าถึงสถาปัตยกรรมยั่งยืนใน 4 แง่มุมครับ

 

Environmental Sustainability

ถ้าพูดถึงเรื่องสถาปัตยกรรมยั่งยืน หัวข้อที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการใช้พลังงาน การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานแบ่งเป็น 2 แนวทางหลักๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป

1. Active Design
คือการออกแบบอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงานโดยการนำเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์อันทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การใช้แผงโซล่าร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในอาคาร หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ระบบ Home Automation มาใช้เพื่อลดการใช้พลังงาน เป็นต้น ถึงแม้วิธี Active Design จะมีความคุ้มค่าในระยะยาวแต่เจ้าของอาคารก็จะต้องลงทุนสูง ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะมีกำลังทรัพย์มากพอ

 

โครงการ Circle 2 Living Prototype มีแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากช่วยลดการใช้พลังงาน

Sustainable-Article_03

ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในบ้านพักอาศัยของ Panasonic มีบริษัท ติยะไพบูลย์ ให้บริการออกแบบและติดตั้ง

Sustainable-Article_04

2. Passive Design

คือการออกแบบอาคารให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทิศทางลมและแสงแดด วิธีนี้อาจจะไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการสร้างอาคารธรรมดาเลย หรือถ้าเพิ่มก็น้อยมาก อยู่ที่ความใส่ใจและการนำความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งบ้านทรงไทยแต่โบราณก็ถือว่าเป็น Passive Design อยู่แล้ว

 

โครงการ Wind รัชโยธิน ที่ชูจุดขายเรื่องการออกแบบให้มีการไหลเวียนของลมธรรมชาติ

Sustainable-Article_05

ผมขอยกตัวอย่างจากโปรเจคที่ได้ร่วมออกแบบกับ อ.สรรค์ ซึ่งมีชื่อว่า The Sundial House เป็นอาคารบ้านพักอาศัย 3 ชั้น บนที่ดิน 50 ตรว. ย่านบางขุนนนท์ โดยเราเลือกแนวทางการออกแบบให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงานแบบ Passive Design คือตัวอาคารและผังอาคาร ถูกจัดวางให้ “ทุกห้อง” ในอาคารได้ลมและมีอากาศถ่ายเท และ “ทุกห้อง” ไม่ถูกแสงแดดยามบ่ายส่องโดยตรง แม้จะมีหน้าต่างบานใหญ่จำนวนมากให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้ตลอดทั้งวันก็ตาม เพราะหน้าต่างทุกบานถูกจัดวางในตำแหน่งและทิศทางที่เหมาะสม โดยทิศตะวันตกซึ่งโดนแดดตอนบ่ายมากที่สุด และโดนบล็อกวิวระยะประชิดจากอาคารข้างๆ ถูกจัดเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น โถงบันได, ห้องน้ำ และห้องเก็บของ ด้านทิศใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแสงแดดเนื่องจากดวงอาทิตย์ในประเทศไทยเคลื่อนตัวจากทิศตะวันออกไปตะวันตกโดยอ้อมทางทิศใต้ Facade อาคารฝั่งนี้จึงถูกออกแบบให้มีผนัง 2 ชั้น โดยมีระแนงไม้อีกชั้นเพื่อกรองความร้อนและสร้างเงาภายในอาคารที่จะเปลี่ยนตลอดทั้งวันอันเป็นที่มาของชื่อ The Sundial House นอกจากนั้นทางทิศใต้ยังปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อกรองความร้อนอีกชั้น


ผังทิศทางแสงแดดและลมที่มีผลต่ออาคาร

Sustainable-Article_06

ทิศเหนือไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง และมีต้นใหญ่เดิมช่วยบัง ส่วนทิศใต้ได้รับแสงแดดจึงมีผนังระแนงไม้กรองแสงเพื่อลดความร้อนและสร้างแสงเงาภายในอาคาร

Sustainable-Article_07

ทุกห้องในอาคารถูกออกแบบให้มีอากาศถ่ายเท โดยอาศัยประโยชน์จากทิศทางลมที่พัดไปในแนวเหนือ-ใต้
Sustainable-Article_08

Facade อาคารทิศใต้ มีหน้าต่างจำนวนจำกัด เพื่อระบายอากาศและสร้างแสงเงาภายในอาคารจากผนังระแนงไม้

Sustainable-Article_09

นอกจากความยั่งยืนด้านพลังงาน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมยังครอบคลุมแง่มุมอื่นๆ อีกที่ไม่สามารถเล่าได้หมดในบทความเดียว (เดี๋ยวจะยาวจนกลายเป็นเขียนหนังสือครับ…) เช่น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หาได้ในท้องถิ่น และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย รวมทั้งการบำบัด, กำจัด และ Recycle ของเสียเหลือใช้จากอาคาร, และการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่อาคาร เป็นต้น

 

สำหรับ The Sundial House เราภูมิใจมาก ที่สามารถรักษาต้นไม้ใหญ่ในที่ดินไว้ได้ทั้งหมด แถมยังใช้ประโยชน์จากร่มเงาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ทางทิศเหนือด้วย ทำให้เราใส่หน้าต่างขนาดใหญ่ในผนังด้านทิศเหนือได้เต็มที่

 

หน้าต่างขนาดใหญ่และวิวทิศเหนือเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ (ภาพ 3D Render ภาพวิวจากสถานที่จริง)

Sustainable-Article_10

Facade อาคารทิศเหนือซึ่งไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง และสถานที่จริงมีต้นไม้เดิมขนาดใหญ่ให้ร่มเงา ทีมออกแบบเลยตัดสินใจใส่หน้าต่างแบบจัดเต็ม

Sustainable-Article_11

Economical/Financial Sustainability

ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน เมื่อพูดถึงความยั่งยืนเราย่อมหมายถึงระยะยาว ดังนั้นในหัวข้อนี้ผมไม่ได้หมายถึงการออกแบบให้ประหยัดต้นทุนในการก่อสร้าง แต่หมายถึงการลดค่าบำรุงรักษาอาคารในระยะยาว ให้อาคารอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยบำรุงรักษาน้อยและง่ายที่สุด ยกตัวอย่างเช่นหลังคาอาคารถูกออกแบบเป็นชิ้นเดียวกันทั้งผืนเพื่อลดโอกาสรั่วซึม, การจัดวางตำแหน่งท่อต่างๆ รวมทั้งช่องเซอร์วิสระบบประปาไฟฟ้าให้สามารถเปิดซ่อมบำรุงได้ง่าย, การเลือกใช้วัสดุอย่างแผ่น Fibre-Composite Panel มาทดแทนไม้ในงานเฟอร์นิเจอร์บางจุด เพื่อลดโอกาสถูกปลวกกิน, การเลือกใช้วัสดุที่คงทนและทำความสะอาดง่ายในจุดที่โดนสัมผัสบ่อย, การเลือกใช้หลอดไฟ LED ที่มีคุณภาพซึ่งอายุการใช้งานนานมากๆ, การออกแบบอาคารโดยลดซอกหลืบช่องมุมต่างๆ ที่เก็บฝุ่นและทำความสะอาดได้ยาก,… และอื่นๆ อีกมากที่ผมเล่าทั้งวันก็คงไม่จบ

 

นอกจากนั้นเรายังสามารถสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยการใช้วัสดุที่หาได้ในประเทศด้วยครับ

แผ่น Fibre-Composite Panel ยี่ห้อ Shera Play ใช้ทดแทนไม้อัด มีคุณสมบัติทนปลวก ทนความชื้น ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Sustainable-Article_12

Social Sustainability

ความยั่งยืนทางด้านสังคม เป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ ซึ่งมักถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย ผมขอแยกประเด็นนี้ออกเป็น 2 ข้อ คือ

1. ความยั่งยืนทางด้านสังคมภายในบ้าน: อาคารที่ดีต้องสามารถสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันได้ ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยทุกคนมีพื้นที่ส่วนตัวมากเพียงพอกับความต้องการ ฟังดูง่ายแต่การที่จะออกแบบอาคารให้ตอบโจทย์นี้ได้ผู้ออกแบบต้องเข้าใจและรู้ลึกถึงพฤติกรรมและความต้องการของผู้อยู่อาศัยทุกคน แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่ามากๆ เพราะสมาชิกในครอบครัวจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น และการที่มีพื้นที่ส่วนตัวมากเพียงพอก็สามารถลดโอกาสเกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิก ทำให้อาคารกลายเป็นบ้านที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง


โต๊ะทานอาหารขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ประยุกต์ทำกิจกรรมได้หลากหลายสำหรับผู้อยู่อาศัย เพราะพื้นที่อาคารจำกัดแค่ 200 ตารางเมตร โดยนอกจากจะใช้เป็นโต๊ะอาหารแล้ว ยังเป็นทั้ง Island สำหรับทำครัว (เจ้าของบ้านชอบทำขนมและทำครัวฝรั่ง) เป็นพื้นที่ทำงานจัดประชุม เป็นพื้นที่จัดปาร์ตี้สังสรรค์ต่อเนื่องไปถึงบาร์และชานนอกบ้าน

Sustainable-Article_13

Lewis Mumford นักปรัชญาและสังคมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “The child is no less entitled to space than the adult…” หมายถึงเด็กก็มีความต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากพอๆ กับผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าออกแบบสร้างบ้านอย่าละเลยความต้องการของเจ้าตัวน้อยนะครับ


2. ความยั่งยืนทางด้านสังคมภายนอกบ้าน:
การสร้างอาคารขึ้นมาหลังหนึ่งจำเป็นมากที่จะต้องใส่ใจกับบริบทสังคมรอบๆ อาคารที่ออกแบบด้วยความใส่ใจในประเด็นนี้จะทำให้พื้นที่รอบๆ นั้นน่าอยู่ขึ้น จนอาจส่งผลทางอ้อมกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้นด้วยก็เป็นได้ ส่วนอาคารที่ตรงกันข้ามอาจสร้างความรำคาญและขัดแย้งกับสังคมรอบๆ เช่น การต่อเติมอาคารในพื้นที่ของตนเองจนน่าเกลียด หรือทาบ้านเป็นสีชมพูสะท้อนแสงซึ่งขัดแย้งกับบริบทโดยรอย ถึงแม้จะไม่ได้ผิดกฎหมายแต่มันสร้างทัศนะอุจาด (Visual Pollution) ให้กับบริเวณรอบๆ หรือการสร้างอาคารไปบังวิวอาคารข้างเคียงทั้งๆ ที่มีวิธีที่สามารถเลี่ยงได้ นี่ยังไม่นับการต่อเติมแบบผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศไทย

 

อย่าง The Sundial House ที่ด้านทิศตะวันตกมีอาคารข้างเคียงระยะประชิด เราพยายามจัดวางอาคารและหน้าต่างให้กระทบความเป็นส่วนตัวของเพื่อนบ้านให้น้อยที่สุดครับ

 

Cultural Sustainability
วัฒนธรรมและความเชื่อ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเราชาวเอเชียมีความแตกต่างจากชาวตะวันตกอย่างชัดเจน มันคือเอกลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนและรากเง้าของเรา ตอนที่เราเริ่มคุยกันเพื่อตั้งโจทย์ออกแบบบ้าน The Sundial House เราตกลงกันว่าเราไม่อยากสร้างบ้านที่สวยล้ำทันสมัย แต่ละทิ้งความเชื่อและวัฒนธรรมไปหมด ผมเชื่อว่าการสร้างบ้านที่มีความยั่งยืนด้านวัฒนธรรมเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่ได้งมงาย แต่บ้านที่เราสร้างไม่ขัดต่อความเชื่อของผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่โอเคไม่คัดค้านและให้การยอมรับ อาคารก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ The Sundial House เรื่องฮวงจุ้ยเราให้ความสำคัญ ความเชื่อเรื่องทิศทางต่างๆ เราจัดวางอย่างถูกต้อง มีห้องพระที่เหมาะสม มีที่วางตีจู่เอี้ยที่ถูกต้องตามหลัก แต่ก็ไม่กระทบความเรียบทันสมัยของงานออกแบบภายใน


ห้องพระที่เจ้าของบ้านใช้เป็นห้องนั่งสมาธิด้วย ถูกแยกเป็นอิสระออกจากส่วนอื่นของอาคารและตกแต่งอย่างเรียบง่ายเพื่อความสงบ

Sustainable-Article_14

Dragon Hole เป็นพื้นที่เปิดโล่งบริเวณชั้น 3 นอกจากจะส่งเสริมฮวงจุ้ยของอาคารแล้วยังเป็นพื้นที่นั่งชิวสบายๆ เพราะช่องนี้เปิดรับลมทิศเหนือ-ใต้ พัดผ่านตลอด

Sustainable-Article_15

จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการสร้างอาคารที่มีความยั่งยืนไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากมายเสมอไป บางข้อสามารถทำได้เลยโดยที่ไม่เพิ่มต้นทุนการก่อสร้างเลยด้วยซ้ำ เพียงใช้ความใส่ใจตั้งแต่เริ่มออกแบบ ลองคิดดูว่าชีวิตคนเราเกิดมาจะมีโอกาสสร้างบ้านของตัวเองได้ซักกี่หลังกันครับ ใช้เงินใช้เวลาไม่ใช่น้อยๆ อาจต้องกู้ธนาคารผ่อนกัน 20-30 ปี บางครอบครัวอยู่ถึงรุ่นลูกหลาน นอกจากอาคารจะมีผลกับผู้อยู่อาศัยแล้วยังมีผลกับบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ด้วย อาคารเป็นสิ่งก่อสร้างถาวร สร้างขึ้นมาแล้วมันเปลี่ยนแปลงรื้อถอนได้ยาก ในการออกแบบสร้างอาคารหลังหนึ่งเราจึงควรให้ความใสใจมากๆ และคิดถึงผลกระทบในระยะยาวต่อตัวเอง ผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบๆ อาคารครับ

 

Reference
– Lewis Mumford, “The Culture of Cities”, 1983
http://www.8020syndicus.com/ref_sundial-house-th.html

นันทเดช สุทธิเดชานัย

นันทเดช สุทธิเดชานัย

จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเริ่มงานด้านที่ปรึกษาการตลาดในบริษัท ไอเดีย 360 จำกัด จนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากหลายกลุ่มธุรกิจ จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัวด้านออกแบบภายใน และที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาฯแบบครบวงจร โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการออกแบบภายในที่อยู่อาศัย และมีพันธมิตรที่สำคัญคือบริษัท ฮาว บิวเดอร์ จำกัด รับผิดชอบในส่วนรับเหมาก่อสร้าง และต่อเติมอาคาร เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง