คิด…เพื่ออนาคตเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ

นันทเดช สุทธิเดชานัย 11 August, 2015 at 15.58 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม มีอาคารสูงเกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ทำให้เส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

 

การที่มีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมายย่อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นแก่กรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯดูเป็นเมืองหลวงที่เจริญ ทันสมัยทัดเทียมเมืองใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้เราจะมีอาคารสูงกว่า 600 เมตร สูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

 

แต่เรื่องดีก็กลับกลายเป็นร้ายเมื่อผู้ประกอบการเจ้าของอาคาร และสถาปนิกบางส่วนขาดสำนึกและความใส่ใจในการออกแบบรูปลักษณ์อาคาร ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างที่กลายเป็นมลภาวะทางทัศนียภาพต่อกรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่า Visual Pollution หรือทัศนะอุจาดนั่นเอง ซึ่งอาคารไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเป็น Visual Pollution ต่อเมืองได้ทั้งหมด เพียงแต่อาคารสูงจะสร้างผลกระทบมากกว่าเพราะสามารถมองเห็นได้จากทุกสารทิศ ส่งผลกับเส้นขอบฟ้า (Skyline) ของกรุงเทพฯ และเอกลักษณ์ของเมืองด้วย

 

ถ้าพูดถึง Visual Pollution หรือทัศนะอุจาดนั้น หลายคนอาจคิดถึงแค่ภาพอาคารที่หน้าตาไม่สวยงาม เก่าโทรมสกปรก หรืออาคารรกร้างที่สร้างไม่เสร็จ แต่ในความหมายของผมเหมารวมถึงอาคารที่อาจดูสวยงามในภาพร่างเมื่ออยู่โดดๆ แต่พอสร้างจริงในทำเลที่ตั้งจริงกลับสร้างความขัดแย้งต่อบริบทหรือส่งแวดล้อมโดยรอบ เช่น คอนโดหรูแห่งหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนจากเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจริงๆเป็นอาคารที่ออกแบบได้ดีและสวยมาก แต่อยู่ผิดที่ผิดทางไปหน่อย

 

ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อาจแย้งว่าเขาสร้างอาคารเพื่อขายเป็นธุรกิจ หน้าที่ของเขาคือการสร้างกำไรหรือผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นให้สูงที่สุด จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนและผลตอบแทนการลงทุนมากกว่ารูปลักษณ์ของอาคาร แต่ในความเป็นจริงการออกแบบก่อสร้างอาคารไม่ให้กลายเป็นทัศนะอุจาดของเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับงบประมาณซะทั้งหมด สำคัญคือใช้ความใส่ใจ ใส่ใจในขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่เอาง่าย ใส่ใจถึงผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมชุมชนรอบข้าง และภาพลักษณ์ของเมืองโดยรวม เพียงแค่การเลือกสีอาคารก็ช่วยได้มากแล้ว ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าหากใช้ความใส่ใจ ในระยะยาวผลตอบแทนจะกลับไปหาผู้ประกอบการเอง และเป็นผลตอบแทนที่ยั่งยืน นอกจากนั้นหน้าที่ของสถาปนิกคือต้องช่วยผู้ประกอบการบริหารต้นทุนโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบอาคารให้ดีที่สุดภายใต้งบประมาณที่จำกัดที่สุด

 

มีอาคารอีกกลุ่มหนึ่งที่ถือเป็นทัศนะอุจาดอย่างร้ายแรงที่สุด อาคารกลุ่มนี้อาจสร้างอย่างสวยหรู ถ้ามองผ่านๆอาจไม่ถือว่าเป็นทัศนะอุจาดเลยด้วยซ้ำ อาคารกลุ่มนี้คือประเภทที่ลอกเลียนการออกแบบจากอาคารอื่นที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่บนถนนพหลโยธิน มีแบบใกล้เคียงกับอาคารสูงชื่อดังที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของเส้นขอบฟ้ากรุงลอนดอนเลยก็ว่าได้ อาคารสูงในกลุ่มลอกเลียนแบบนี้ อาจดูสวยงาม แต่ทำให้เส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯเสียเอกลักษณ์ไป ซึ่งอาคารสูงมีอายุการใช้งานนานหลายสิบหรือเป็นร้อยปี สร้างมาแล้วยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือรื้อทิ้ง จึงจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ประกาศความไม่มีความคิดสร้างสรรค์ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

ว่าด้วยเรื่องเอกลักษณ์ของเส้นขอบฟ้า
ถ้าเราเปิดหนังสือหรือนิตยสารท่องเที่ยว ดูภาพยนตร์หรือสารคดี แล้วเราเห็นภาพเส้นขอบฟ้ามหานครไม่ว่ามุมใดของโลก แล้วสามารถบอกได้แทบจะทันทีว่าภาพนี้คือเมืองอะไร นั่นแสดงว่าเมืองเหล่านี้มีเส้นขอบฟ้าที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งมักจะประกอบด้วยอาคารสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างภาพร่างเมืองใหญ่ 4 ภาพด้านล่างนี้ เพียงลายเส้นง่ายๆไม่กี่เส้น ก็สามารถสื่อได้แทบจะทันทีว่าภาพเหล่านี้คือเมืองอะไร เพราะเมืองเหล่านี้มีเอกลักษณ์ที่เป็นที่จดจำได้

 

Screenshot_1

 

ถ้าถามว่าแล้วหน้าตาเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ มันสำคัญอะไรนักหนา มันก็ไม่ได้ทำให้ใครเจ็บป่วยเดือดร้อน ผมขอตอบเลยว่าในระยะยาวสำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นภาพลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยที่คนทั่วโลกมองเราแล้ว กรุงเทพฯยังเป็นเมืองท่องเที่ยว รายได้สัดส่วนไม่น้อยของเรามาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถ้าเรามองในมุมมองด้านการตลาด กรุงเทพฯ คือ “Brand” ที่ต้องแข่งขันกับ “Brand” อื่นๆ ก็คือเมืองคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวของเรา การที่จะแข่งขันได้จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำใคร แล้วทำไมเราจึงต้องสร้างตึกสูงให้เหมือนกับอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงลอนดอน? เราอยากให้คนจดจำเราในฐานะเมืองหลวงของการลอกเลียนแบบซึ่งแม้แต่อาคารสูงก็ไม่เว้นหรือ?

 

11873964_1641133826126664_1089422470_n

 

 

การออกแบบอาคาร ไม่ว่าจะสูง เตี้ย เล็กหรือใหญ่ ผู้ประกอบการควรใส่ใจถึงผลกระทบของรูปลักษณ์อาคารที่มีต่อบริบทและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ไม่ควรคำนึงถึงเพียงแต่ผลตอบแทนในระยะสั้นหรือความต้องการส่วนตัวเท่านั้น หากทำด้วยความใส่ใจแล้วสุดท้ายผู้ประกอบการ, เจ้าของอาคาร และผู้ออกแบบเองนั่นแหละที่จะได้ผลประโยชน์ในระยะยาวอย่างชัดเจนที่สุด

 

นันทเดช สุทธิเดชานัย

นันทเดช สุทธิเดชานัย

จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และเริ่มงานด้านที่ปรึกษาการตลาดในบริษัท ไอเดีย 360 จำกัด จนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากหลายกลุ่มธุรกิจ จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัวด้านออกแบบภายใน และที่ปรึกษาด้านการลงทุนอสังหาฯแบบครบวงจร โดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านการออกแบบภายในที่อยู่อาศัย และมีพันธมิตรที่สำคัญคือบริษัท ฮาว บิวเดอร์ จำกัด รับผิดชอบในส่วนรับเหมาก่อสร้าง และต่อเติมอาคาร เพื่อให้บริการลูกค้าได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง