“คนตัวเล็กต้องดูท่าทียักษ์ใหญ่” จับตาก้าวต่อไปของตลาดอสังหาไทย พี่ใหญ่เค้าจะมูฟไปทางไหนกัน

ต่อทอง ทองหล่อ 20 October, 2020 at 11.17 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เราในฐานะคนตัวเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยหรือแม้กระทั่งคนซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองก็จำเป็นต้องคอยติดตามเฝ้ามองว่าบริษัทในวงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ นั้นเค้าทำอะไรกันบ้าง เพื่อรู้เขารู้เราไว้บ้างและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำคัญต่างๆ  หรือแม้แต่บริษัทใหญ่ก็ยังต้องมองดูคนตัวเล็กๆ อย่างเราหลายคนที่ประกอบรวมเป็นเทรนด์สะท้อนเป็นภาพรวมใหญ่ของสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ด้วยเช่นกัน ในปี 2020 ที่ภาวะวิกฤติ COVID-19 ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากและเร็วที่สุดคือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายมนุษย์ระหว่างประเทศ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน ธุรกิจอสังหาประเภทโรงแรม และค่อยๆ ส่งผลต่อเนื่องมาสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ในสาย supply chain เช่น ธุรกิจส่งออกนำเข้า เป็นต้น แต่บางธุรกิจก็มีแนวโน้มเติบโตสวนทาง เช่น ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจคลังสินค้า เป็นต้น

 

ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2020 นี้จนถึงล่าสุดในช่วงตุลาคม2020 โดยพบว่าในตลาดอสังหาฯ ไทย บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่ยังครองใจลูกค้า หยอดเงินลงทุนสูง และมีมูลค่าการขายที่มากอันดับต้นๆ คือ AP, Sansiri และ Supalai ซึ่งทั้งสามบริษัทนี้มองทิศทางการพัฒนาโครงการในพื้นที่ต่างจังหวัด ว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดที่สามารถเข้าไปขยายตลาดได้มากกว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ที่ตลาดส่วนใหญ่จะแข่งขันกันสูงมากเนื่องจากตลาดอสังหาแนวราบรอบกรุงเทพและปริมณฑลนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพราะสถานการณ์ COVID-19 และไลฟ์สไตล์แบบ Work from Home เป็นตัวเร่งให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เร่งทำตลาดโครงการแนวราบอย่างเต็มที่ครอบคลุมทุกเซกเมนท์ ยกตัวอย่างเช่น Supalai จะเพิ่มจำนวนโครงการแนวราบจาก 25 โครงการ เพิ่มเป็น 27 โครงการ กระจายไปยังในจังหวัดที่มีฐานของลูกค้าเดิมของตัวเองเพื่อตอบสนองดีมานด์ของคนมีเงินที่อยู่ต่างจังหวัดที่ยังคงมีศักยภาพในการซื้อบ้านได้อยู่

 

ส่วนตลาดบ้านคอนโดราคาต่ำถึงกลางๆ เช่น กลุ่มต่ำล้านบาท, กลุ่ม 2-4-6 ล้านบาท กลุ่มตลาดเหล่านี้มีบริษัทพัฒนาอสังหาหลายรายที่ไม่ค่อยมาเล่นตลาดนี้ก็มาลงทุนเปิดโครงการแนวนี้กันมากขึ้น เช่น SENA เปิดคอนโด SENA Kith เจาะกลุ่มต่ำล้านบาท , Noble ตะลุยเปิดคอนโดราคาดี facility สวยอย่างซีรีส์ Nue Noble , Sansiri เปิดทาวน์โฮมและบ้านซีรีส์ ANASIRI ราคาเริ่มต้น 1.9 ล้านบาท ส่วนAP ทำ PLENO จับกลุ่มกลาง 2-4 ล้านบาท เปิดคอนโด Aspire Erawan Prime ราคาดีติดรถไฟฟ้า เป็นต้น ภาพแบบนี้จะเริ่มเห็นมากขึ้นเพราะรองรับได้ทั้งตลาดกลุ่มซื้ออยู่อาศัยเองและกลุ่มนักลงทุนได้ด้วย

 

กระโดดข้ามกำแพงรายได้มาส่องของหรูเลิศๆ อย่างของ Singha Estate กันบ้าง พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการขายบ้านอภิมหาหรูราคาสูงสองสามร้อยล้านบาทอย่างในโครงการSantiburi the Residences ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2020 ที่ผ่านมา ขายไปได้กว่า 1,450ล้านบาท ส่วน MJD ก็ปิดการขายคอนโดระดับ Ultimate Class อย่าง MARQUE Sukhumvit และบ้านเดี่ยว Super Luxury อย่าง Mavista เก็บเกี่ยวรายได้มาจากช่วงนาทีทองไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2020 ที่เศรษฐีไม่ได้เที่ยวต่างประเทศแล้วเบื่ออยู่บ้านออกไปสะสมบ้านใหม่เข้าคอลเลคชั่นกันไปอย่างงดงาม…ทั้งหมดนี้เป็นดัชนีที่สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาไม่ได้แย่ไปทั้งตลาด ดีมานท์ที่มีกำลังซื้อยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าดีเวลลอปเปอร์ต้องหาให้เจอ มัดใจให้ได้ ซึ่งช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยภาพรวมแล้วเชื่อว่าดีเวลลอปเปอร์จะเริ่มทยอยเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากที่ชะลอการเปิดตัวโครงการในช่วงครึ่งแรกของปี 2020  เพราะว่าชะลอจนมีสินค้าคงเหลือน้อยจนจะไม่มีของมาขายแล้ว จึงต้องทยอยเพิ่มโครงการใหม่ๆ ออกมาขาย และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอสังหาฯ ที่จะฟื้นอย่างเต็มขั้นในอีกไม่กี่ปี เพราะถึงอย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ยังคงมีความต้องการการอยู่อาศัยอยู่เช่นเดิม

 

จากภาพรวมทั้งหมดของตลาดอสังหาก็จะเห็นได้ว่าดีเวลลอปเปอร์ขนาดใหญ่หลายราย แม้จะเดินเกมแบบระมัดระวังเต็มที่ เน้นกลยุทธ์ Cash is King ตุนเงินสดไว้ก่อน แต่ก็ยังพอที่จะเห็นสัญญาณบวกในการที่จะซื้อที่ดินเพื่อเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะถ้าดูจากยอดขายของแนวราบในกลุ่ม Real Demand ที่ยังคงไปได้ดี แม้จะพบว่ามีราคาที่ดินที่หลายๆ แปลงเจ้าของเริ่มมีการปล่อยขายแบบลดราคาลงบ้าง แต่ก็มี Landlord ที่ยังไม่ขายและไม่ลดราคาที่ดินและยังจะรอจนกว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเหมือนเดิมแล้วค่อยขายเพราะไม่มีแรงกดดันด้านภาษีที่ดินหรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม กลุ่ม Landlord ยังคงเชื่อมั่นว่าในอนาคตตลาดจะยังดีขึ้นได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้เป็นเรื่องที่ใครอดทนรอได้นานกว่าก็จะได้เปรียบ

 

มีข้อมูลรายงานว่าดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่บางรายที่ยังคงมีความพร้อมในการบริหารความเสี่ยง มีความพร้อมทางด้านการเงินและการก่อสร้าง ก็ยังจะเปิดเกมรุกเต็มที่ในช่วงปลายปี 2020 เพราะเป็นธรรมดาของธุรกิจที่เมื่อผู้เล่นบางรายแผ่วลง อีกรายก็จะเริ่มรุกไล่มากขึ้น เช่นเดียวกับในฟากของดีมานท์ ที่แม้บางกลุ่มอาจจะลดลงแต่ก็ยังคงมีดีมานท์ของอีกกลุ่มอยู่ต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเงินกำลังย้ายกระเป๋าจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งอยู่นั่นเอง

 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ AP ที่เริ่มส่งสัญญาณบวกให้กับตลาดอสังหาไทยอย่างเห็นได้ชัดเจนโดยดูจากวิธีการตั้งงบประมาณซื้อที่ดินของ AP เค้ามีการปรับจำนวนงบประมาณการซื้อที่ดินที่มากกว่าเดิม นั่นแสดงว่าทาง AP สัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่างในอนาคตหรือไม่

ช่วงเริ่มต้นของปี 2020 ที่วิกฤติโรคระบาด COVID-19 ยังแพร่กระจายเฉพาะที่ประเทศจีน ทาง APเคยตั้งงบประมาณการซื้อที่ดิน (Land Budget) ไว้อยู่ที่ 8,500 ล้านบาท แต่เมื่อถึงเวลาที่ COVID-19 เริ่มบุกเข้าไปไทยและรัฐบาลสั่ง Lock down ไปในช่วงเดือนเมษายนที่ทุกคนอดเที่ยวสงกรานต์นั้น ทาง AP ก็มีปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยรีบตัดสินใจปรับลดงบประมาณซื้อที่ดินลงกว่า 47% ให้เหลืออยู่ที่ 4,500 ล้านบาทเพื่อชะลอดูท่าทีของวิกฤติโรคระบาดว่าจะมีเทรนด์เส้นกราฟผู้ติดเชื้อสูงขึ้นหรือต่ำลงแค่ไหน  แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (New case) ไม่สูงไปมากกว่านี้เหมือนประเทศอื่นๆ อย่างอเมริกา ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปจากเดือนเมษายน 2020 มาจนถึงปัจจุบันในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ทุกคนในไทยก็ปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์แบบ New Normal ได้หมดแล้ว หลายบริษัทมีการปรับตัวหลากหลายรูปแบบ ส่วนทางบริษัท AP แสดงความมั่นใจต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นโดยการปรับยอดงบ Land Budget ให้สูงขึ้นกว่าช่วง Lockdown เมษายนมาประมาณ 111% เรียกได้ว่าเพิ่มงบซื้อที่ดินมากกว่า  1  เท่าตัวเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูล Land Budget จาก AP และสถิติ New case จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Template:COVID-19_pandemic_data

 

ปัจจุบัน AP ตั้งงบซื้อที่ดินไว้ทั้งหมด 9,500 ล้านบาท ใช้เงินไปแล้ว 3,800 ล้านบาทเพื่อเตรียมสร้างโครงการใหม่ๆ สร้างรายได้ก้อนใหม่ให้บริษัท และเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจของซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยตอบสนองดีมานด์จากลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัยอีกด้วย และช่วงปลายปีหรือไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 นี้ทาง AP ยังเหลืองบประมาณใช้ซื้อที่ดินอีกกว่า 5,700 ล้านบาท ดังนั้นท่านเจ้าของที่ดินที่ไหนมีแปลงที่ดินมีศักยภาพน่าสนใจลองนำเสนอกับฝ่ายซื้อที่ดินของ AP ได้เลย เพราะ AP ยังเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีงบคงเหลือเพื่อซื้อที่ดินในปี 2020 นี้ครับ

 

ภาพสะท้อนแบบนี้หมายความว่า AP มองภาพยาวไปข้างหน้าในอนาคตเรียบร้อยแล้วว่านี่คือจังหวะที่ดีในการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่อในระยะยาว นอกจากนี้เรายังเห็นความเคลื่อนไหวของ APได้เปิดโครงการใหม่ๆ ที่หัวเมืองต่างจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีได้แก่ ระยอง นครศรีธรรมราช ขอนแก่น เชียงราย อยุธยา ด้วยแบรนด์ใหม่ชื่อว่า “อภิทาวน์ (APITOWN)” เพื่อจับกลุ่มผู้ที่ทำงานอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมและทำเลการค้าในต่างจังหวัดต่างๆ ที่อยากได้ที่อยู่อาศัยภายใต้การดำเนินงานของบริษัทมหาชนที่มีความมั่นคงทางการเงินมากกว่าบริษัทพัฒนาอสังหารายกลางและเล็กที่เป็นเจ้าถิ่นในทำเลนั้นๆ

 

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ แล้ว AP เอาเงินมาจากไหน คำตอบที่ตรงไปตรงมาก็คือ เอาเงินมาจากยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ออกมาว่าเมื่อช่วงกลางปี 2020 นั่นเอง โดยทาง AP รับรู้รายได้ไปแล้วถึง 19,960 ล้านบาท และทาง AP ยังมียอดขายรอโอน (Backlog) ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 4ของปี 2020 จำนวน 23,400 ล้านบาท

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมา ทำให้เรามองเห็นความจริงอีกด้านว่า แม้ในยามวิกฤติของตลาดอสังหาไทย ก็ยังมีภาพด้านบวกของหลายบริษัทให้เรามองเห็นว่ายังมีหลายรายที่สามารถเติบโตในท่ามกลางสถานการณ์อันแสนยากได้อย่างไร เช่นเดียวกับวิกฤติโรคระบาดบนโลก ที่ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆ ก็ตามที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของเรา ข้อเท็จจริงคือมีคนส่วนน้อยที่จะติดโรคแล้วอ่อนแอตายหายไป แต่อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่ก็จะมีภูมิต้านทานและมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ต่อไป เพราะสิ่งมีชีวิตทุกอย่างรวมถึงไวรัสก็ย่อมมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดบนโลกได้นานที่สุดเช่นกัน ซึ่งวิกฤตในรอบนี้นั้นหากมองในแง่ของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องของธนาคาร และภูมิต้านทานของตัวดีเวลลอปเปอร์เอง ก็จะพบว่าหากองค์กรไหนมีกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้ไว ก็จะผ่านไปได้ด้วยดีในที่สุดครับ

แหล่งข้อมูล

https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000104922

https://mgronline.com/stockmarket/detail/9630000104069

https://www.thebusinessplus.com/singha-estate-ultra-luxury-housing-market/

https://www.bizfocusmagazine.com/news/item/8117-19.html

https://propholic.com/prop-now/lpn-wisdom-%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b9%80/

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง