อ่านก่อนลงทุนทำ Co-working Space ให้เช่าสำหรับคนไทย

ต่อทอง ทองหล่อ 01 December, 2018 at 23.45 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ไป Co-working space เจอแต่คนต่างชาติ ไม่ค่อยมีคนไทยใช้บริการ? เพราะอะไร? มาดูกัน

ผู้เขียนเป็นคนที่ใช้บริการ Co-working Space ในไทยมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกมีแค่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพ ตระเวนไปดูหลายแห่ง แต่สังเกตได้ว่ามีคนไทยใช้บริการจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติกลับเข้ามาใช้บริการกันมากกว่า ส่วนคนไทยจะหันไปนิยมเช่า private office ขนาดเล็กที่อยู่ใน co-working space นั้นๆ อีกที แต่ไม่ค่อยออกมานั่งทำงานที่โซน public space

 

แม้คนไทยไม่นิยม Co-working Space แต่อย่างไรก็ตามกระแส Co-working Space ก็โด่งดังมากตามมาจากกระแส Startup จนปัจจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมทุกแห่งในยุคปี 2014 เป็นต้นมา จะต้องมีห้องที่เรียกว่า Co-working Space แถมเป็น Facility ให้มาด้วย โครงการไหนไม่มีถือว่าพลาดมากๆ ถือว่าเป็นโจทย์บังคับที่ต้องทำ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องทำเหมือนๆ กัน (ฮา) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ห้อง Co-working Space ในคอนโดมิเนียมกลับไม่ค่อยมีใช้บริการ บางแห่งเข้าไปไม่มีคนเลย เปิดแอร์ทิ้งทั้งวัน สาเหตุมันเป็นเพราะอะไร บทความนี้มีคำตอบครับ

10 สาเหตุที่อาจทำให้คนไทยยังไม่นิยมใช้บริการ Co-working Space มีหลายสาเหตุร่วมกัน

 

1. คนไทยยังนิยมหรือจำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศ และสถานที่ทำงานเฉพาะเจาะจง

เพราะการบริหารจัดการภายในองค์กรยังไม่ Go Online กันมากสักเท่าไหร่ การสื่อสารออนไลน์ในองค์กรในปัจจุบันมีแค่ email, LINE, Facebook ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารพื้นฐานเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้เวิร์กจริงๆ

 

2. ระบบการทำงานออนไลน์ Collaboration system ในไทย ที่เหมาะสมสำหรับคนไทยยังไม่ค่อยมี

ในต่างประเทศมีบริการออนไลน์ด้าน Collaboration system หรือ Project Management มากมายและเป็นที่นิยมกันด้วย เช่น Slack, Asana, Bitrix24, Basecamp, Trello ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้การทำงานร่วมกันภายในองค์กรเสมือนได้นั่งทำงานร่วมกันอยู่ในออฟฟิศเดียวกัน ทุกคนจะเข้ามาตอบข้อความ เจ้านายสามารถ approve งานที่ลูกน้องส่งไฟล์มาให้ได้ แถมทุกอย่างยังค้นหาสะดวก เรียกดูไฟล์ทุกอย่างได้แค่คลิก ระบบการทำงานแบบนี้จึงมีบทบาทมากในการช่วยให้ธุรกิจ Co-working space เกิดขึ้น เพราะทุกคนสามารถทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเดียวกัน

 

นอกจากนี้ระบบงานออนไลน์ที่ช่วยให้คนทำงานจากทางไกลยังมีไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น Online Accounting ระบบบัญชีและการเงินออนไลน์ของต่างประเทศมีให้เลือกเยอะมากเช่น Xero, QuickBooksOnline, FinSync เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีให้เห็นแล้ว เช่น FlowAccount, PeakAccount ก็ลองใช้งานดูได้ครับ ระบบงานออนไลน์แบบนี้ยังต้องการผู้พัฒนาระบบและองค์กรต่างๆ ควรจะเริ่มศึกษาหาวิธีใช้งานบริการแบบนี้เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น พนักงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศจึงทำให้ลดขนาดพื้นที่ออฟฟิศช่วยประหยัดเงินค่าเช่า และยังสามารถให้พนักงานทำงานได้ทุกเมื่ออีกด้วย ออกแบบงานให้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศตรงใจพนักงานคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความอิสระไม่อยากนั่งทำงานประจำทุกวัน

 

3. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูง เน็ตเร็วๆ แรงๆ ยังมีต้นทุนสูงสำหรับคนที่มีรายได้จำกัด

ปัญหาด้านนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามาดูแลแก้ไข จะทำอย่างไรให้อินเทอร์เน็ตบ้านเรามีความเร็วสูง เชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ๆ ได้ในเวลารวดเร็ว และต้นทุนในการใช้งานที่ต่ำลง ดีขึ้น ถูกลง ถ้าทำได้จนกระทั่งชาวบ้านทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แบบราคาถูกมากๆ ตอนนั้นเองที่ระบบการทำงานออนไลน์ก็จะนิยมมากขึ้นตามไปด้วย เพราะอำนวยความสะดวกให้ใครก็ได้ทำงานจากที่ไหนก็ได้

 

4. หน่วยงานรัฐของไทยยังใช้กระดาษอยู่เป็นส่วนใหญ่

ข้อนี้ยังเป็นอุปสรรคให้กับเนื้องานหลายๆ สาขา เช่น งานบัญชีและภาษีก็ยังจะ Go Online ไม่ได้เต็มที่เพราะหน่วยงานราชการยังต้องการเอกสารที่เป็นกระดาษอยู่นั่นเอง ซึ่งปัญหานี้หน่วยงานรัฐกำลังพัฒนาให้กลายเป็น Online อยู่ครับ ตอนนี้ในส่วนของกรมสรรพากรก็เริ่มมีบริการ e-Tax แล้ว https://etax.rd.go.th/  ลองศึกษากันได้ครับ แต่หน่วยงานของรัฐอื่นๆ ยังต้องใช้กระดาษอยู่ ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น e-Gov ได้อย่างที่วางแผนเอาไว้จริง เพราะจะช่วยทำให้การสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนสะดวกสบายยิ่งขึ้น

 

5. ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ของไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา

ประเทศไทยกำลังพัฒนาระบบการยืนยันตัวทางดิจิทัลอยู่ครับ ถ้าเมื่อใดที่เกิดผลสำเร็จของโครงการนี้จะทำให้เป็นโครงการสร้างพื้นฐานให้กับทุกองค์กรใช้สื่อสารร่วมกัน อนาคตการเซ็นสัญญาข้อตกลง หรือการเปิดบัญชีธุรกรรมต่างๆ ก็จะสามารถจัดการบนออนไลน์ได้เลย

ติดตามความคืบหน้าได้ที่ https://www.facebook.com/NationalDigitalID

 

6. เช่า Co-working Space แพงกว่าทางเลือกอื่นๆ

จริงๆ แล้ว Co-working Space มีคู่แข่งเป็นคาเฟ่และห้างสรรพสินค้าด้วยนะครับ แม้กระทั่งคอนโดมิเนียมที่ห้องทำงานส่วนกลางก็เป็นคู่แข่งอีกด้วย ยิ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ว่างในห้างสรรพสินค้าก็ปรับมาเป็น Co-working Space เพื่อดึงดูดคนให้มาเดินห้าง หรือที่ว่างต่างๆ ตามอาคาร ผู้บริหารจัดการอาคารก็มักจะเพิ่มโต๊ะเก้าอี้ติดอินเทอร์เน็ตเข้าไปกลายเป็น Co-working Space ได้เช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกเยอะมากขึ้น และหลายๆ แห่งก็ offer ให้ใช้บริการกันฟรีๆ จึงมีผลกระทบต่อ Co-working Space ที่เก็บเงินครับ

 

7. ทัศนคติของนายจ้างยังคงกังวล

นายจ้างบางคนรู้สึกไปเองว่าถ้าปล่อยให้พนักงานออกไปทำงานข้างนอกจะทำให้ตัวเองเสียอำนาจการควบคุม เพราะไม่ได้อยู่ในสำนักงานเดียวกัน เป็นประเด็นทางด้านจิตวิทยาครับ

นายจ้างบางคนก็กลัวความลับของงานถูกเปิดเผย รั่วไหล หรือคู่แข่งไปพบข้อมูลโดยบังเอิญ โดยที่ไม่สามารถสืบสวนจับมือใครดมได้ มีปัญหาด้านความไว้วางใจ ความคิดแนวนี้ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อการทำงานแบบไม่เจอหน้ากันตัวเป็นๆ

 

8.คนไทยบางคนยังไม่ค่อยมีคอนเซปต์การจ่ายเงินเพื่อแลกกับการเช่าพื้นที่ที่ไม่ได้รับการบริการที่เป็นรูปธรรม

พฤติกรรมไม่จ่ายเงินซื้อบริการ ซื้อ experience ซื้อของที่จับต้องไม่ได้ เรามักจะพบเห็นในกลุ่มช่วงวัยอายุมากๆ หน่อยครับหรือบางคนที่อยู่วัยอื่นก็จะรู้สึกแบบนั้น บางคนจะคิดว่า จ่ายทำไมไม่เห็นได้อะไรกลับมาเลย ไม่คุ้มค่า แล้วบอกว่าแพงไปอีก เสียดายเงิน จ่ายเงินเพื่อโต๊ะกับเก้าอี้แค่นี้เหรอ ถ้ามีอาหารเครื่องดื่มให้ด้วยก็จะโอเคกว่า คิดไปแบบนั้นแหละครับ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาว Millennials จะไม่ค่อยมีปัญหาการจ่ายเงินซื้อบริการที่จับต้องไม่ได้ ถ้าอะไรดี feel good ก็ยินดีควักเงินจ่ายออกไปอย่างเต็มใจ ดังนั้นบริการ Co-working space ก็ต้องรอให้จำนวนคน millennials ขึ้นมาแสดงความเห็นหรือเป็นระดับผู้บริหารขององค์กรกันเสียก่อนถึงจะเริ่มมีสไตล์และวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป

 

9. บางเนื้องานการได้พบปะเจอหน้าคนในทีมมีผลดีต่อการทำงานมากกว่าการแยกออกไปทำงานเดี่ยวๆ

ข้อนี้ก็จะบอกไม่จริงก็คงพูดไม่ได้เต็มปาก เพราะบางเนื้องานการได้พบเจอตัวเป็นๆ คุยกันแบบ face-to-face ก็จะเวิร์กกว่า เช่น งานเจรจาต่อรอง งานขาย งานความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องระดมสมองได้จับต้องสิ่งของต่างๆ เรียกได้ว่าแม้จะ Go Online ไปมากแค่ไหนแต่ยังไงก็ยังต้องมีกิจกรรม Offline ให้ต่อกันอยู่ดี

 

ทำให้บางบริษัทที่เคยมีนโยบายอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน ก็กลับมาเปลี่ยนเป็นเรียกพนักงานเข้ามาคุยที่บริษัท กลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันเพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

 

10. วัฒนธรรมและสังคมไทยแตกต่างจากสังคมชาวตะวันตก

เหตุผลนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาสังคม คนไทยเป็นสังคมอยู่แบบรวมกลุ่มแต่แยกกันทำงาน ไม่ใช่สังคมต่างคนต่างอยู่แต่ทำงานกันเป็นทีมแบบชาวตะวันตก ความแตกต่างของพฤติกรรมของคนในสังคมก็มีผลต่อลักษณะการใช้งาน Co-working Space อีกด้วย ถ้าสังเกตคนต่างชาติที่มาทำงานใน Co-working Space พอเวลาทำงานเขาก็จะทำงาน แต่พอช่วงพักเขาก็จะเปิดบทสนทนาพูดคุยกับคนอื่นๆ แชร์ความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ แต่เมื่อสังเกตพฤติกรรมคนไทยใน Co-working Space ก็จะนั่งทำงานและไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่นและบางทีก็เหมือนไม่อยากแชร์ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ให้คนอื่นรู้ เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหนต้องลองไปสังเกตดูกันเอาเองครับ ผู้เขียนอาจจะยังไม่ได้ทำการวิจัยเบื้องลึกครับ

 

เหตุผลเหล่านี้ประกอบรวมกันทำให้ธุรกิจ Co-working Space ในไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนไทยได้ ซึ่งคงต้องฝากให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนอสังหาสร้าง Co-working Space ร่วมมือกันช่วยแก้ไขประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อเพิ่ม demand จากฝั่งคนไทย

 

ส่วน Co-working Space ในไทยที่เจาะกลุ่มคนต่างชาติ กลุ่ม Digital Nomad นั้นไม่ค่อยมีปัญหาครับ ยังมีลูกค้าและธุรกิจก็ยังไปได้ดีทีเดียวครับซึ่งเราจะเห็นว่าบางแบรนด์อย่างเช่น Hubba ก็สามารถขยายสาขาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพราะทำการตลาดกับคนต่างชาติ

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง