ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มทำความเข้าใจกับที่ดินประเภทต่างๆ ก่อนที่จะต้องเสียเงิน

wipawan khampuwiang 18 December, 2019 at 11.39 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลายคนคงได้เห็นข่าวเกี่ยวกับเรื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง กันมาบ้างแล้ว โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีการเริ่มบังคับใช้กันในปีหน้า ใครที่ยังไม่ได้อ่านข่าวมาหรือไม่เข้าใจว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นอย่างไร และมีผลต่อใครอย่างไรบ้าง จึงอยากให้มาลองอ่านกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเลย เนื่องจากในปัจจุบันที่มีโครงการอสังหาฯ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ที่ใครๆ ต่างก็อยากจับจองเป็นเจ้าของกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการสะดวกต่อการเดินทางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโครงการ นี่แหละเหตุผลที่เราต้องมาทำความเข้าใจกันว่า พ.ร.บ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง มีรายละเอียดเป็นอย่างไร และแตกต่างจากภาษีโรงเรือน แค่คิดว่าบ้านที่อยู่อาศัยมาทุกวันต้องทำการเสียภาษีก็ทำให้หลายคนเกิดความสับสนอยู่บ้าง งั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเลย

 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาแทนภาษีโรงเรือน

มาทำความรู้จักกับภาษีโรงเรือนและที่ดินกันก่อน คือ เป็นเงินที่เก็บจากรายได้จากการประเมินทรัพย์สินอสังหาฯ ที่เราถือครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน อาคาร ตึกแถว ห้องเช่า อพาร์ทเม้นท์ คลังสินค้า ฯลฯ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ตั้งถาวรอยู่บนที่ดิน อย่าง สะพาน ท่าเรือ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของที่ดินได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ให้เช่า ใช้เป็นที่ค้าขาย ใช้เป็นคลังสินค้า ใช้ประกอบอุตสาหกรรม หรือใช้ประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้

 

ซึ่งผู้ที่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก็คือ เจ้าของทรัพย์สิน, เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และเจ้าของที่ดิน หากเป็นกรณีที่เจ้าของผลักภาระภาษีให้แก่ผู้เช่าเป็นผู้จ่ายที่มีการระบุในสัญญาเช่า หรือในกรณีที่ให้ญาติที่ใช้พื้นที่ประกอบกิจการฟรีๆ เป็นผู้จ่าย แต่หากผู้เช่าที่ได้ทำสัญญาร่วมกันไว้ไม่จ่าย ไม่ว่าอย่างไร ภาระภาษีโรงเรือนก็ยังคงเป็นของเจ้าของสินทรัพย์อยู่ดี

 

โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สำหรับกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อทดแทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 เพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับลักษณะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน โดยภาษีที่ดินฉบับใหม่นี้ ให้อำนาจ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นผู้จัดเก็บภาษีตามที่คณะกรรมการภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดกำหนด ส่วนฐานภาษีที่จะถูกจัดเก็บจะคิดจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยการคำนวณจากมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษี ก็จะเป็นผู้ที่มีชื่อการถือครองที่ดินในใบโฉนดเหมือนกับภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ได้กล่าวไปในข้างต้น

ซึ่งรายละเอียดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 แต่ภายในปี 2563 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป จะเป็นการบังคับใช้จริง ซึ่งตอนแรกที่จะมีกำหนดชำระภาษีภายในเดือนเมษายน 2563 จะเลื่อนออกเป็นเดือนสิงหาคมแทน ซึ่งอัตราสูงสุดที่เป็นไปได้อยู่ที่ปีละ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ. สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท คือ ที่อยู่อาศัย, เกษตรกรรม, ที่ดินพาณิชยกรรม และที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่มีแค่ 2 ประเภท คือ เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยหลัก ที่ได้รับการยกเว้น และมีอยู่ 2 ประเภท คือ ที่ดินพาณิชยกรรมและที่ดินรกร้างว่างเปล่า

 

โดยที่ดินแบบพาณิชยกรรมและที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะเสียภาษีมากกว่าที่ดินแบบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยหลักถึง 10 เท่า

ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ที่มูลค่า 0-10 ลบ. จะถูกยกเว้นภาษี, มูลค่า 10-50 ลบ. ถูกเก็บ 0.02%, มูลค่า 50-40 ลบ. ถูกเก็บ 0.03%  และมูลค่า 100 ลบ. ขึ้นไป ถูกเก็บ 0.1% หากเป็นบ้านหลักและเป็นทั้งเจ้าของบ้านและที่ดิน จะยกเว้นภาษี 50 ลบ. แรก แต่ถ้าเป็นบ้านหลักแต่เป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านอย่างเดียวจะได้รับยกเว้นภาษี 10 ลบ. แรก

ที่ดินเกษตรกรรม มีมูลค่าที่ดิน 0-75 ลบ. ถูกเก็บ 0.01%, มูลค่าที่ดิน 75-100 ลบ. ถูกเก็บ 0.03%, มูลค่าที่ดิน 100-500 ลบ. ถูกเก็บ 0.05%, มูลค่าที่ดิน 500-1,000 ลบ. ถูกเก็บ 0.07% และมูลค่าที่ดิน 1,000 ลบ. ขึ้นไป ถูกเก็บ 0.1% ส่วนบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้น อปท. ไม่เกิน 50 ลบ.

 

ที่ดินต้องเป็นการทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์และกิจการอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่มีมูลค่าการประเมิน 0-50 ลบ.ถูกเก็บ 0.3%, ที่ดินมูลค่า 50-200 ลบ. ถูกเก็บ 0.4%, ที่ดินมูลค่า 200-1,000 ลบ. ถูกเก็บ 0.5%, ที่ดินมูลค่า 1,000-5,000 ลบ. ถูกเก็บ 0.6% และที่ดินมูลค่า 5,000 ลบ. ขึ้นไป ถูกเก็บ 0.7% ส่วนที่ดินที่มีการทิ้งร้างแบบที่เจ้าของไม่ทำประโยชน์จะมีการเพิ่มอัตราเก็บ 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมจะไม่เกิน 3% นั่นเอง

 

ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการทำพาณิชยกรรม มูลค่าการประเมิน 0-50 ลบ.ถูกเก็บ 0.3%, ที่ดินมูลค่า 50-200 ลบ. ถูกเก็บ 0.4%, ที่ดินมูลค่า 200-1,000 ลบ. ถูกเก็บ 0.5%, ที่ดินมูลค่า 1,000-5,000 ลบ. ถูกเก็บ 0.6% และที่ดินมูลค่า 5,000 ลบ. ขึ้นไป ถูกเก็บ 0.7%

 

ร้านค้าโชว์ห่วย, ปั๊มน้ำมัน, อพาร์เมนต์, บ้านและคอนโดที่ปล่อยช่า ก็เป็นพาณิชยกรรม

ภาพจาก : http://www.fpo.go.th/main/

 

หากเป็นบ้านหลังหลักและเป็นทั้งเจ้าของบ้านและที่ดิน จะยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าเป็นบ้านหลักแต่เป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านอย่างเดียวจะได้รับยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นที่ดินแบบอยู่อาศัยจะถูกเรียกเก็บภาษีคิดเป็นล้านละ 200 บาท แต่ในกรณีที่บางคนมีคอนโดหลายห้อง จะต้องไปดูที่สัญญาว่าจดทะเบียนห้องนั้นว่าอยู่อาศัยหรืออื่นๆ เพราะหากจดทะเบียนห้องเป็นอื่นๆ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด ส่วนถ้าคอนโดห้องไหนซื้อมาเพื่อปล่อยเช่า อัตราเรียกเก็บภาษีก็จะแตกต่างจากห้องที่ใช้อยู่อาศัยเช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องไปตรวจสอบใบสัญญาคอนโดของตัวเองให้ดีๆ ว่าได้จดทะเบียนแบบอยู่อาศัยไว้หรือเปล่า หากไม่อยากเสียภาษีในส่วนนี้

 

ในกรณีที่เรามีคอนโดไว้ปล่อยเช่า จะถูกเรียกเก็บภาษีแพงกว่าบ้านหลังหลักเป็น 0.03% ขึ้นไป หรือคิดเป็นล้านละ 3,000 บาท ถ้าห้องนั้นเราทำการปล่อยเช่าจริงแต่กลับจดทะเบียนเป็นอยู่อาศัย ก็จะถือว่าผิดกฎหมายได้ หากมีกำหนดการเช่า 3 ปีขึ้นไป ให้จดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ถ้าห้องไม่มีการจดทะเบียนจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี และค่าเช่าถือเป็นเงินได้และต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นั่นเอง และหากเป็นการปล่อยเช่าให้ช่าวต่างชาติก็ต้องส่งใบ ตม30 เพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่เช่นกัน

ถ้าไม่จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเกิดอะไรขึ้น?

ซึ่งหลักเกณฑ์ของกำหนดการเสียภาษี คือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องการแจ้งประเมินภาษีและส่งแบบประเมินให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ และผู้เสียภาษีต้องจ่ายภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยที่พนักงานต้องแจ้งการประเมินภาษีไปให้เจ้าของที่ดินทุกแปลงตามรายการที่ได้รับแจ้งของกรมที่ดิน และจะมีการแจ้งประเมินภาษีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากข้อมูลที่ส่งไปให้เจ้าของที่ดินไม่ครบถ้วนทางองค์กรถึงจะมีการแก้ไขข้อมูลและส่งซ้ำอีกที เมื่อเจ้าของทรัพย์สินละเลยการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็จะมีโทษปรับเพิ่มร้อยละ 40 ของภาษีที่ค้างจ่าย เงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือน หลังจากมีการออกหนังสือแจ้งเตือนครั้งสุดท้าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิ์ออกหนังสือยึด อายัดทรัพย์สินได้ และสามารถยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระภาษี ซึ่งอัตราภาษีที่กล่าวไว้ในข้างต้นนั้นเป็นช่วง 2 ปีแรก หลังจาก 2 ปีจะเป็นอัตราสูงสุด คือ ที่ดินเกษตรกรรม หลังจาก 2 ปีแรก ต้องเสียภาษี 0.15% ยกเว้นมูลค่าทรัพย์ 50 ล้านบาทแรกอยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย จะเสียภาษี 0.30% หลังจาก 2 ปี ยกเว้นหากใช้เพื่ออยู่อาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน, ที่ดินพาณิชยกรรม จากที่เคยเสียภาษีสูงสุด 0.70% 2 ปีหลังต้องเสีย 1.20% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 2 ปีหลังต้องเสีย 3.00 %

ภาพจาก : https://drive.google.com/file/d/1Irt50N7UnWukEJEQvCpi3Jzv9Lcle706/view

 

ตัวอย่างของการเสียภาษีในรูปแบบต่างๆ

นายเอปลูกบ้านอยู่แถวนนทบุรี แต่เป็นการเช่าที่ดินของนายบีปลูกบ้าน ซึ่งนายเอมีชื่อเป็นเจ้าของบ้านอยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อมีพนักงานมาทำการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปรากฏว่ามีมูลค่ารวม 20 ลบ. นายเอจะต้องเสียภาษีในลักษณะนี้ คือ นายเอเป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านอย่างเดียวไม่รวมที่ดิน จะได้รับยกเว้นภาษี 10 ลบ. แรก คือ ที่ดินมูลค่า 20 ลบ. หักราคา 10 ลบ. ที่ได้รับการยกเว้น และเสียภาษี 10 ลบ. ต่อมา โดยราคาประเมินมูลค่า 0-50 ลบ. ต้องเสีย 0.02% ภาษีที่นายเอต้องจ่ายทั้งหมดก็คือ 2,000 บ. คิดเป็นล้านละ 200 บ. นั่นเอง

 

นายบีมีคอนโดปล่อยเช่า 2 แห่ง ต้องเสียภาษี 0.3% หรือล้านละ 3,000 บ. เพราะถือว่าเป็นการทำพาณิชยกรรม ราคาคอนโดห้องละ 5 ลบ. นำ 5 ล้าน คูณกับ 0.3% เท่ากับ 15,000 บ. นายบีต้องเสียภาษีคอนโดห้องละ 15,000 บ./ปี

 

นางซีมีบ้านหลังหลัก 1 หลัง บ้านรวมที่ดินมีมูลค่า 15 ลบ. ไม่เสียภาษี เนื่องจากถูกยกเว้น 50 ลบ. แรก และคอนโด 1 ห้อง คอนโดจะเสียภาษีคิดเป็น 0.02% ต่อปี ถ้าในโฉนดจดทะเบียนเป็นอยู่อาศัย หากจดทะเบียนเป็นอื่นๆ ต้องเสีย 0.3% ซึ่งการยกเว้นเสียภาษีนั้นต้องเป็นบ้านหลังหลักที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น โดยเจ้าของบ้าน + คอนโด แต่ราคารวมสองแห่งไม่ถึง 50 ลบ. ต้องเลือกเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากกว่ากันให้เอาชื่อเข้าทะเบียนบ้านหลังนั้น เพราะภาษีจะไม่คิด 50 ลบ. แรก ของหลังที่มีชื่อเข้าทะเบียนบ้าน และคอนโดราคา 8 ล้าน คูณกับ 0.02% เท่ากับ 1,600 บ. ที่ต้องจ่ายภาษีในส่วนของคอนโด ในกรณีที่ใครต้องการถือครองบ้านหลายหลังในชื่อของตนเอง ก็ต้องรีบโอนกรรมสิทธิ์ให้กับคู่สมรส ทายาท หรือญาติพี่น้อ ได้ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2563 ไม่อย่างนั้นจะต้องเสียภาษีบ้านหลังที่ 2 ตามมูลค่าการประเมิน

 

หน้าตาของเอกสารที่เราต้องกรอกข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงจำนวนห้องชุดที่มีอยู่ จะถูกส่งไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน บางคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงไม่ได้รับเอกสารตามที่กล่าวมา เพราะไม่มีเอกสารถูกส่งไปยังคอนโดที่อาศัยอยู่ จึงต้องไปตรวจสอบกับทางบ้านหลังหลักที่มีชื่อของเราอยู่ในทะเบียนบ้าน

 

ตัวอย่างเอกสารแจ้งข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาพจาก : https://drive.google.com/file/d/1Irt50N7UnWukEJEQvCpi3Jzv9Lcle706/view

ในกรณีที่ค้างชำระภาษี แล้วมีเอกสารแจ้งเตือนการชำระภาษีมาให้แต่เจ้าของทรัพย์สิน แต่ก็ยังไม่ไปจ่าย จะมีเอกสารอายัดทรัพย์สินส่งตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านในลักษณะนี้

ภาพจาก : https://drive.google.com/file/d/1Irt50N7UnWukEJEQvCpi3Jzv9Lcle706/view

 

ถ้ามีเอกสารแจ้งข้อมูลส่งมาถึงเจ้าของทรัพย์สิน แล้วลงข้อมูลคอนโดที่ใช้อยู่อาศัยโดยไม่ได้ทำการปล่อยเช่าให้เป็นอื่นๆ แทน หากเจ้าของห้องต้องการแก้ไขข้อมูลเพื่อยกเว้นการเรียกเก็บภาษี ก็สามารถเข้าแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนข้อมูลได้ที่สำนักงานเขตที่ขึ้นตรงกับคอนโด โดยเอาสำเนาโฉนด สำเนาทะเบียนบ้าน สัญญาซื้อขาย ใบมอบอำนาจ ไปที่เขตได้ หรือบางเขตอาจมีให้กรอกคำร้องขอแก้ไขข้อมูลไปทางเมลได้ สามารถโทรสอบถามไปยังเขตนั้นๆ ได้ และแว่วมาว่ามีบาร์โค้ดที่เข้าไปแก้ในออนไลน์ได้ แต่ก็ไม่รู้ระบบจะมีความเสถียรมากแค่ไหน โดยการขอแจ้งเปลี่ยนข้อมูลสามารถทำได้ภายใน 15 วัน หลังจากวันที่ได้รับเอกสารประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาพจาก : https://www.facebook.com/TaxBugnoms/photos/a.192327474126010/3074378079254254/?type=3

ประโยชน์ของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นี้ก็คือ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อทุกคนเพราะคนที่มีที่ดินไว้ในครอบครองมากก็ต้องเสียภาษีการถือครองที่ดินเยอะ คนที่มีที่ดินน้อยและใช้เป็นประโยชน์จริงๆ ก็เสียภาษีตามความเหมาะสม และยังช่วยลดความลักลั่นในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งฐานภาษีมีความเป็นปัจจุบันและสากล ช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ตนเองถือครองอยู่ และยังเกิดการกระจายการถือครองที่ดินไปในตัว และในระยะยาวองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย

 

ส่วนในแง่ของผลกระทบสรุปก็คือ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ มีทั้งผลดีและผลกระทบเกิดขึ้นกับหลายๆ ส่วน อย่างผลกระทบที่เกิดกับด้านอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดินแปลงใหญ่ที่มีดีเวลลอปเปอร์ครอบครองอยู่ แต่ยังไม่ได้มีการพัฒนาโครงการขึ้น ก็ต้องเสียภาษีตามมูลค่าที่ดินที่ทางพนักงานได้ประเมินมาให้ ถ้าภายในระยะ 3 ปี ที่ดินยังไม่ได้รับการพัฒนาก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในปีที่ 4  ถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ที่ดินของบริษัทพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ที่ไม่สามารถขายได้หมดภายใน 3 ปี และที่ดิน NPA หรือสาขาขนาดใหญ่ของธนาคารที่เกินความจำเป็นก็ต้องแบกรับภาระในการเสียภาษี

 

และในด้านของ End user ต้องมีการปรับตัวกับ พ.ร.บ. เช่น ลดการถือครองที่ดินที่เป็นภาระทางภาษี เช่น การขายที่ดินที่มีศักยภาพหรือที่ดินที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ถือครองเฉพาะอสังหาฯ ที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน มีการวางแผนภาษีก่อนซื้ออสังหาฯ และทำการปล่อยเช่าที่ดินเพื่อให้ผู้อื่นได้ใช้ทำประโยชน์ทางการเกษตร

 

ส่วนธุรกิจในด้านอสังหาฯ ที่มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น คือ ธุรกิจนายหน้าและที่ปรึกษาด้านอสังหาฯ นักพัฒนาที่ดินจะมีที่ดินออกมาขายหรือร่วมทุนกันมากขึ้น โดยเกษตรกรทั้งรายเล็ก รายใหญ่ จะมีที่ดินจำนวนมากในการปล่อยเช่านั่นเอง

 

และผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ คือ กระทรวงการคลังพยายามกระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อให้ซื้อบ้านหลังที่ 2, 3, 4 จะได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การที่ยกเว้นบ้านหลังแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี จับยัดบ้านหลัง 2, 3, 4 ไปอยู่ในกลุ่มเพื่อการพาณิชย์และต้องเสียภาษีในอัตราสูง ก็จะทำให้ไม่มีใครอยากซื้อบ้านหลายหลังเพราะไม่อยากรับภาระภาษีที่สูงเกินไป

 

ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ เมื่อเจ้าของทรัพย์สินได้รับเอกสาร ตรวจสอบดูแล้วว่ามีข้อมูลผิด เนื่องจากคอนโดได้ใช้อยู่อาศัยจริง ไม่ได้ทำการปล่อยเช่า แต่เจ้าหน้าที่ลงว่าเป็นอื่นๆ เจ้าของทรัพย์สินต้องไปแจ้งอุทธรณ์ว่าไม่ใช่อื่นๆ ด้วยตนเองจะดีกว่าการเข้าไปกรอกขอแก้ไขข้อมูลในระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบและทำการปรับแก้เอกสารฉบับนั้นทันที

 

เพื่อทำความเข้าใจกับ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเริ่มบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 และเจ้าของทรัพย์สินต้องชำระภาษีภายในต้นเดือนสิงหาคม 2563 เจ้าของที่ดินต้องตรวจสอบเอกสารที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ส่งมาให้ว่ามีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ หากมีข้อมูลผิดพลาดก็ควรรีบแจ้งไปยังเขตที่รับผิดชอบให้เร็วที่สุดเพื่อความเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังช่วยให้เจ้าของที่ดินบริหารจัดการที่ดินที่ตนเองถือครองอยู่ให้เป็นประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มากยิ่งขึ้นอีกด้วย และในมุมมองของเรา ในเรื่องที่ว่าภาษีนี้จะมีส่วนช่วยให้ราคาที่ดินลดลงมาได้หรือไม่ เพราะเจ้าของที่อาจจะ Panic ไม่อยากจ่ายภาษีจนต้องปล่อยขาย ก็ต้องบอกว่าถ้าที่ดินไหนอยู่ในทำเลดีๆ ราคาก็จะขึ้นเกือบ 10% ทุกปีอยู่แล้ว อีกทั้งราคาประเมินก็ขึ้นทุกรอบประเมิน เสียภาษีแค่นี้คงไม่กระทบกับเจ้าของ เพียงแต่เจ้าของก็อาจจะบวกค่าภาษีเข้าไปในราคาที่ดิน หรือไม่ก็ปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ไปทำเกษตรกรรม ดังเช่น ที่เราเห็นสวนมะนาวบนที่ดินสุด Prime ติด MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ดังนั้นหากจะคาดว่าราคาที่ดินจะลงเพราะคนรวยเทขายกลัวภาษีก็คงจะไม่ใช่ เพราะที่ดินมีโอกาสจะแพงขึ้นต่างหาก

wipawan khampuwiang

wipawan khampuwiang

จบทางด้านภาษาไทยและชอบงานเขียน ชอบอ่านและดูรูปภาพรีวิวบ้าน คอนโดต่างๆ เบื่อกับการอยู่ห้องทั้งวันแบบไม่มีอะไรทำ ฉะนั้นงานอดิเรกก็เลยชอบหาที่เที่ยวและถ่ายภาพ

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง