ทำความรู้จัก “รีไฟแนนซ์” และ “รีเทนชั่น” ตัวช่วยผ่อนบ้านไม่ให้หนี้บาน ปลดหนี้ไวขึ้น
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากการปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งหมายถึงสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอยและวางแผนทางการเงินอื่น ๆ เช่นกัน ข้อมูลล่าสุดจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 5 นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจซบเซาและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่องที่หลายฝ่ายคาดหวังให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประคับประคองกำลังซื้อไปได้ท่ามกลางช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้
ข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่าสถานะหนี้เสีย (NPL) ที่ค้างชำระเกิน 90 วันในไตรมาส 2 ของปี 2567 อยู่ที่กว่า 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นหนี้เสียจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยกว่า 218,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน จะเห็นได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงสวนทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องด้วยที่อยู่อาศัยเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องกู้สินเชื่อจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดมิเนียม และด้วยระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนาน ทำให้อัตราดอกเบี้ยกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจยื่นกู้ ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคพิจารณาเมื่อต้องกู้ซื้อบ้านถึง 78% ดังนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเปรียบเสมือนเข็มทิศที่กำหนดทิศทางการเงินของผู้ที่วางแผนกู้ซื้อบ้านและผู้ที่กำลังผ่อนบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้
การปรับอัตราดอกเบี้ยมีผลอย่างไรเมื่อกู้ซื้อบ้าน?
อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกกำหนดโดยธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจรวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเกี่ยวข้องกับผู้ที่วางแผนซื้อบ้านและผู้ที่กำลังผ่อนบ้านโดยตรง เพราะหากมีการปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับลดหรือเพิ่มตามเช่นกัน
หากผู้บริโภคกู้ซื้อบ้านโดยเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีการปรับขึ้น-ลงในช่วงเวลาที่ธนาคารกำหนด โดยทั่วไปมักจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงต้นของการผ่อนบ้านเพื่อดึงดูดใจลูกค้า เหมาะสำหรับการกู้ซื้อบ้านในช่วงที่เศรษฐกิจดี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยมักมีแนวโน้มปรับขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ขอสินเชื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ยบ้านเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากยังคงถูกคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปตามสัญญาเดิมนั่นเอง
ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) จะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ระยะยาวสำหรับลูกหนี้ชั้นดีซึ่งจะเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสุดหรือ MLR (Minimum Loan Rate) ซึ่งสามารถขึ้น-ลงได้ตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดเงิน และต้นทุนทางการเงินของธนาคาร และผันแปรตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย จึงเหมาะสำหรับการกู้ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีเพราะมักจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่หากอยู่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นผู้กู้ก็จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทำความรู้จัก “รีเทนชั่น” และ “รีไฟแนนซ์” ผู้ช่วยใกล้ตัวของคนผ่อนบ้าน
ผู้บริโภคที่กู้ซื้อบ้านในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวควรวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบ รวมทั้งหมั่นศึกษาเทคนิคการผ่อนบ้านที่ช่วยลดต้นลดดอกควบคู่ไปด้วย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ชวนมาทำความรู้จักกับ “รีเทนชั่น” และ “รีไฟแนนซ์” ทางลัดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยเมื่อกู้ซื้อบ้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยการ “รีเทนชั่น” และ “รีไฟแนนซ์” ต่างมีวัตถุประสงค์ในการลดอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อบ้านให้ต่ำลงเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้
– รีเทนชั่น (Retention) เป็นการต่อรองขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิมที่กำลังผ่อนอยู่ โดยธนาคารจะตรวจสอบประวัติการผ่อนชำระของผู้กู้ก่อนพิจารณาเช่นกัน วิธีนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ผู้กู้ไม่เสียเวลาในการจัดเตรียมเอกสารใหม่ เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมกับธนาคารเดิม ธนาคารจะมีเอกสารและข้อมูลของผู้กู้อยู่แล้ว ทำให้ใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติไม่นาน นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่เสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการรีไฟแนนซ์ จึงได้ประโยชน์ทั้งการประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ถูกกว่า
– รีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการย้ายไปทำสัญญาสินเชื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยกับธนาคารแห่งใหม่เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยหลายธนาคารมักจะมีการจัดโปรโมชั่นรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้ารายใหม่ จึงทำให้ผู้กู้จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการรีเทนชั่น นอกจากนี้บางแห่งยังมีโปรโมชั่นพิเศษเพิ่มเติม เช่น ฟรีค่าประเมินหลักประกัน, ฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย หรือฟรีค่าจดจำนอง เป็นต้น จุดเด่นของการรีไฟแนนซ์คือผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกข้อเสนอที่มองว่าคุ้มค่าที่สุดจากธนาคารต่าง ๆ ได้เอง ถือเป็นวิธีที่ได้รับนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนลงได้อย่างชัดเจน หรืออาจได้เงินส่วนต่างมาใช้ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้หากกู้ได้มากกว่าวงเงินเดิม