แค่ตั้งชื่อผิดก็งานเข้า! ปัญหาในการตั้งชื่อโครงการสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและนักพัฒนาอสังหาฯ จีน

ต่อทอง ทองหล่อ 08 July, 2019 at 11.08 am

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ปัญหาที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในวงการอสังหาฯ ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อการตั้งชื่อโครงการอสังหาฯ กลายเป็นปัญหาต่อลูกค้า ต่อชุมชนหรือเป็นปัญหาถึงระดับรัฐบาลเลยทีเดียว!

ชื่อไม่เหมือนกับทำเลที่ตั้ง

ในประเทศไทยมีกรณีปัญหาเร่ื่องการตั้งชื่อโครงการอยู่บ้าง เช่น ตั้งชื่อโครงการและตามด้วยชื่อที่ตั้งของทำเลที่ไม่เป็นไปตามความจริงมากสักเท่าไหร่ แต่เพื่อจุดประสงค์ด้านการตลาด ความสำเร็จในการขายและภาพลักษณ์ที่อยากให้ลูกค้ารับรู้ก็ย่อมทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ เช่น โครงการตั้งอยู่ทำเลสถานีตลาดพลูแต่ทำไมมีแค่คำว่าสาทร ทั้งๆ ที่คำว่าตลาดพลูก็มีความหมายดีอยู่แล้วและเป็นชื่อสถานีที่คนนิยม บางโครงการอยู่ทำเลพัฒนาการแต่กลับเพิ่มคำว่าทองหล่อเข้าไปด้วย บางโครงการอยู่คลองตันแต่ดันใช้คำว่าเอกมัยที่ซอยถัดไป บางโครงการอยู่สถานีสะพานควายแต่ไม่เคยเลือกใช้คำว่าสะพานควายเลยจนเป็นเรื่องที่น่าน้อยใจแทนคำว่าสะพานควายเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่คำว่าสะพานควายมีเรื่องราวที่น่าสนใจและควายก็เป็นเหมือนสัตว์ประจำท้องถิ่นของไทยที่สื่อถึงความร่ำรวยของสังคมเกษตรในอดีตที่บ้านใดมีควายจำนวนมากแสดงว่าบ้านนั้นมีทุนมาก มีที่ดินมากและต้องใช้ควายเป็นแรงงานในการทำงานมากตามไปด้วย ควายเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นเศรษฐีในอดีตนั่นเอง การตีความคำว่าควายในมุมมองแง่ลบถือว่ามองข้ามบริบทดั้งเดิมไปอย่างน่าเสียดาย ต่อไปนี้ใครอยู่ย่านสะพานควายขอให้ภาคภูมิใจว่าคำว่าควายไม่ใช่ความหมายลบๆ อีกต่อไป แต่ควายหมายถึงสัตว์ที่สื่อถึงความเป็น Landlord สื่อถึงความร่ำรวยมาตั้งแต่อดีตหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Old Money รวยมาตั้งแต่รุ่นทวดปู่ย่าตายาย

Photo by ZHENGFAN YANG on Unsplash

 

นอกจากนี้การเลือกใช้ชื่อทำเลที่ฟังดูดีกว่าในความรู้สึกบริษัทผู้พัฒนาก็อาจมีผลต่อความเข้าใจผิดของลูกค้าจนกระทบกับยอดขายก็เป็นไปได้เช่น บางโครงการอยู่สถานีบางซ่อนซึ่งคำว่าบางซ่อนก็ไม่ได้มีความแย่แต่อย่างใด แต่โครงการกลับใช้คำว่าวงศ์สว่างซึ่งเป็นทำเลสถานีถัดไปซึ่งทำให้ลูกค้าที่เป็นคนที่อยู่ในย่านนั้นถึงกับงงว่าแท้จริงโครงการตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ กลายเป็นปัญหาว่าขับรถผ่านป้ายโฆษณาทุกวันแต่ไม่รู้ว่าจริงๆ อยู่ตรงไหน เมื่อไม่เห็นยอดขายก็ไม่เกิด

 

ทั้งหมดเหล่านี้คือตัวอย่างของชื่อโครงการล้วนมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อแต่ละโครงการ แต่อย่างไรก็ตามในไทยก็ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหรือตั้งกฎเกณฑ์อะไรกันมากนัก เพราะยังไม่เกิดความเดือดร้อนให้กับสังคม

 

แต่สำหรับในประเทศจีนก็เป็นที่น่าจับตามองเมื่อผู้ประกอบการโรงแรมและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าเมื่อรัฐบาลออกมาตรการจัดระเบียบการตั้งชื่อให้แก่สถานที่ต่างๆ ทั้งอพาร์ทเม้นต์ โรงแรม เขตชุมชน และตึกสำนักงาน ให้ทำการรีแบรนด์หรือเปลี่ยนชื่อทันทีหากพบว่าเข้าข่ายผิดข้อกำหนด โดยคำสั่งนี้มีผลสืบเนื่องมาจากนโยบายเมื่อปี 2561 ของรัฐบาลในการพยายามกำจัดธุรกิจที่มีชื่อที่ฟังดูแล้วยิ่งใหญ่ตระการตา เป็นคำพ้องกับชื่อของสถานที่ต่างชาติ หรือชื่อที่มีความหมายแปลกๆ ทั้งหลายแหล่ นโยบายนี้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวบรวมรายชื่อที่เข้าข่ายผิดกฎให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม พร้อมกับออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนชื่อและรีแบรนด์ทันที

 

ชื่อที่เข้าข่ายผิดกฎในประเทศจีน

แบ่งได้ 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. ประเภทฟังดูแล้วยิ่งใหญ่ หมายรวมถึงโครงการที่ดินหรือสถานที่ใดๆ ที่มีการกล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่และความสำคัญ โดยใช้คำประเภท World, Grand, International หรือแม้แต่ Central เป็นที่น่าสนใจว่าหากมาตรการนี้ถูกนำมาบังคับใช้จริงบ้างในบ้านเรา ห้าง Central World จะรีแบรนด์เป็นอะไรดี

2. ชื่อแปลกประหลาด เช่น ชื่อโครงการที่มีทั้งตัวเลขและสัญลักษณ์ อย่าง ‘No.6 compound’ และ ‘EE-New Town’ ในมณฑลซานซี รวมไปถึงชื่อสถานที่ที่มีความหมายไปในทางลบ เช่น Mieziqiao (แปลว่า ต่อต้านสะพานของระบบทุนนิยม) ระหว่างเมืองปันหยางและเหมาหยางในไห่หนาน ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงในจีนแต่มีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเกณฑ์ข้อนี้หากนำมาบังคับใช้ในไทยคงต้องมีการรีแบรนด์กันใหม่ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ดังเช่นที่เรามีบ้านหนองลีหู จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนบ้านหนองขาหยั่ง จังหวัดนครปฐม หรือแม้กระทั่ง ผาหำหด จังหวัดชัยภูมิ

3. ชื่อเหมือนต่างชาติ การตั้งชื่อประเภทนี้พบได้ทั่วไปและเข้าใจได้ด้วยเหตุผลทางการตลาดของนักพัฒนาอสังหาฯ จีนที่พยายามทำให้โครงการของตนฟังแล้วดูดีมีระดับ เช่น Seine Residence ที่ตั้งชื่อให้เหมือนแม่น้ำแซนของประเทศฝรั่งเศส แต่กลับตั้งอยู่ในเถียนจิน ประเทศจีน

ขณะที่ Shenzhen-based Overseas Chinese Town Enterprises (OCT) บริษัทยักษ์ใหญ่ในเสินเจิ้นได้จำลองเมืองอินเตอร์ลาเคนของสวิตเซอร์แลนด์ขึ้นมาในเขตศูนย์เทคโนโลยีจีน นอกจากนี้ยังมี Thames Town ที่เลียนแบบชื่อแม่น้ำเทมส์ของประเทศอังกฤษ แต่หาพบได้ในสงเจียง เขตนอกเมืองของเซี่ยงไฮ้ที่สถาปัตยกรรมเต็มไปด้วยระเบียงแบบยุควิคตอเรี่ยน ตู้โทรศัพท์สาธารณะสีแดง รูปปั้นแฮร์รี่ พอตเตอร์หรือแม้แต่รูปปั้นวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ และแน่นอนในไทยแลนด์แดนสยามของเราเองก็มีสถานที่ลักษณะนี้อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะบรรยากาศเสมือนอยู่อิตาลีที่ Primo Piazza เขาใหญ่  Santorini Park ที่ชะอำ หรือ Pickadaily Bangkok ที่จำลองบรรยากาศเมืองอังกฤษมาทั้งรถเมล์แดง หอนาฬิกา น้ำพุและตู้โทรศัพท์ ไม่น้อยหน้าโครงการ Thames Town ของพี่จีนเลยทีเดียว

 

ทางออกของปัญหาการตั้งชื่อผิด

การจะบังคับใช้มาตราการให้มีประสิทธิภาพ ทางรัฐบาลก็ควรจะสืบหาไปยังต้นตอของปัญหาซึ่งก็คือนายทะเบียนผู้มีอำนาจในการอนุมัติการตั้งชื่อให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละเจ้า พวกเขาต้องหลีกเลี่ยงการอนุมัติชื่อที่จะมาทำลายความมั่นคงทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีน’ นายเจ้าฮวนหยาน หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาการโรงแรมหัวเหม่ยกล่าว

 

จากแหล่งข่าวรายงานเพิ่มอีกว่าฝ่ายบริหารโรงแรมเวียนนาในเสินเจิ้นก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินงานโรงแรมที่พบว่ามีการตั้งชื่อผิดกฎอยู่ถึง 15 แห่ง โดยเมื่อไน่นานมานี้ผู้จัดการโรงแรมได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล จากข้อบังคับให้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อของรัฐบาล เรียกได้ว่าเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งในแง่ของการดำเนินการและงบประมาณทางการตลาดของโรงแรมที่จะต้องสร้างชื่อให้เป็นที่จดจำในกลุ่มลูกค้าอีกครั้ง

 

แต่ทั้งนี้ทางรัฐบาลยังมีข้อยกเว้นให้กับชื่อต่างชาติบางประการที่มีการสะท้อนถึงมิตรภาพระหว่างชาวจีนกับประชาคมโลก อย่าง Three Lenin Park ในเสฉวน หรือโรงแรมฮิลตันที่สามารถใช้ชื่อเดิมที่มีการเปลี่ยนเป็นภาษาจีนและจดทะเบียนกับทางการท้องถิ่นไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วได้

 

จะเห็นว่าทางการจีนได้ให้ความสำคัญกับการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นชาติแม้ว่าเศรษฐกิจและการลงทุนจะเติบโตไปข้างหน้าแต่การกำหนดกรอบแนวทางจากรัฐบาลยังคงมีบทบาทในการช่วยควบคุมให้ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่มัวแต่มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตนจนละเลยเอกลักษณ์ของความเป็นชาติในภาพรวม

 

ส่วนประเทศไทยสิ่งที่ควรทำคือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรเลือกใช้ชื่อโครงการที่มีชื่อทำเลที่เหมาะสมและสะท้อนความเป็นจริงให้มากที่สุด ร้ายน้อยที่สุดคือควรใส่ชื่อทำเลที่แท้จริงเข้าไปในชื่อโครงการด้วยอย่างน้อย 1 คำก็ยังดี และบทบาทของผู้พัฒนาอสังหาฯ ควรช่วยกันยกระดับชื่อย่านใหม่ที่ไม่ใช่ย่านแบรนด์เนมให้เป็นแบรนด์ที่ดีเป็นที่น่าจดจำขึ้น นั่นคือหนทางที่ยั่งยืนในการพัฒนามากกว่า ไม่เช่นนั้นต่อไปเราคงต้องเห็นโครงการที่ชื่อเหมือนย่านแบรนด์เนมในเมืองแต่กลับอยู่ห่างออกไปเป็น 10-20 กิโลเมตร

 

ที่มา https://www.scmp.com/business/china-business/article/3015169/whats-name-its-plenty-chinas-hoteliers-and-property

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง