ญี่ปุ่นทำอย่างไรถ้าทั้งเมืองเต็มไปด้วยบ้านที่ปราศจากเจ้าของ

เกริก บุณยโยธิน 27 June, 2019 at 18.58 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยหลายๆคนชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ และวัฒนธรรม จนติดอันดับประเทศในเอเชียที่คนไทยนิยมไปเที่ยวมากที่สุด แน่นอนว่าเมื่อมีดีมานท์ในการท่องเที่ยว ศึกษาต่อ หรือทำธุรกิจ ก็ย่อมเกิดดีมานท์ในการหาพักอาศัยในระยะยาว ซึ่งทางพร็อพฮอลิคเองก็ได้เคยจัดทริปในการไปดูโครงการอสังหาฯที่ญี่ปุ่นมาหลายครั้ง คลิกเพื่ออ่าน  เก็บตกบรรยากาศ PropTrip: Tokyo Mission เมื่อคนไทยสนใจซื้อคอนโดที่โตเกียวเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง แต่ก็อย่างที่คุณผู้อ่านและผู้ที่เคยไปร่วมทริปกับเรารู้กันว่าการไปซื้ออสังหาฯที่โน้นนั้นถึงแม้จะไม่มีข้อจำกัดในการถือครองของคนต่างชาติ แต่คอนโดมือหนึ่งส่วนใหญ่มีราคาที่สูง มีค่าใช้จ่ายภาษี ส่วนกลางรายปีที่สูง กู้ธนาคารไม่ได้ อีกทั้งยังยากหากต้องการที่จะทำกำไรกิน Capital Gain จากการขายต่อ ที่ส่วนใหญ่แล้วโดนภาษี โดนค่าโอนไปก็ขาดทุน (เรียกได้ว่าถ้าไม่ได้อยู่เองกะซื้อมาลงทุนขายต่อ ยังไงก็ไม่คุ้ม เพราะราคาอสังหาฯของญี่ปุ่นมันนิ่งต่อเนื่องมาเกินสิบปีแล้ว)

 

ถึงกระนั้นก็ยังมีคนไทยหลายคนตัดสินใจไปซื้อคอนโดเพื่ออยู่เองที่นั่น หรือแม้กระทั่งซื้อที่ดินตามชานเมืองต่างจังหวัดที่มีราคาถูกกว่าที่ดินใจกลางเมืองของกทม.เยอะเพื่อปลูกบ้านเอง เพราะว่าหลงใหลในวัฒนธรรม และสภาพภูมิอากาศของญี่ปุ่นจนยากจะหักห้ามใจ…แต่มีไม่กี่คนนักที่จะรู้ว่าหากคุณคิดอยากที่จะใช้ชีวิตที่นี่จริงๆ ยังมีทางเลือกที่ให้คุณจ่ายน้อยกว่าที่คิดเอาไว้เยอะเลยทีเดียว และบางที่คุณอาจจะได้บ้านมาฟรีๆด้วยซ้ำ! เป็นที่รู้กันว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คืออัตราการเกิดมีน้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ (ในปี 2017 มีคนเกิด 946,060 คน ในขณะที่มีคนตายถึง 1,340,433 คน)แถมคนสูงวัยเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็ไม่มีลูกหลานดูแล เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือชรามากๆก็มักที่จะเสียชีวิตภายในบ้านพักของตัวเองในแบบที่ไม่มีใครรู้ จนทำให้บ้านและอพาร์ทเมนท์จำนวนมากตามชานเมือง และต่างจังหวัด ไม่มีคนอยู่ ไม่มีเจ้าของ หรือถ้าลูกหลานบังเอิญได้มรดกก็กลับอยากจะทิ้งบ้านไปซะเพราะไม่อยากจ่ายภาษี (ซะงั้น) หน่วยงานภาครัฐก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อดี จะปล่อยทิ้งร้างแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆก็กะไรอยู่ ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารพบว่า เมื่อปี 2013 มีจำนวน “บ้านที่ปราศจากเจ้าของ” หรือที่เรียกในญี่ปุ่นว่า Akiya (空き家) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2013 มีจำนวนสูงถึง 8.2 ล้านหลัง ซึ่งนับเฉพาะที่คาโงชิม่า โคจิ และวากายาม่า ก็กินจำนวนกว่า 10% เข้าไปแล้ว ส่วนใน 2018 ก็เพิ่มขึ้นมาเป็นมากกว่า 10 ล้านหลัง และมีการคาดการณ์จากสถาบันวิจัยกลุ่ม Fujitsu กันว่าในปี 2033 จำนวนบ้านกว่า 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่น รวมถึงในโตเกียวด้วยจะกลายเป็นบ้านที่ปราศจากคนพักอาศัย! ฟังดูแล้วมันน่าหดหู่ และสะท้อนผลเสียต่อตลาดอสังหาฯยังไงไม่รู้เหมือนกันครับ

 

ผลจากที่มี Akiya เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ส่งผลชัดเจนในเรื่องสภาพแวดล้อมของทำเลนั้นๆครับ เพราะตัวบ้านเองก็ทรุดโทรม ปลวกกิน หลายแห่งเป็นแหล่งมั่วสุม เป็นเป้าหมายในการถ่ายรายการแนวล่าท้าผี หลายๆหลังฝนตกลมแรงหน่อยก็พังทลายลงมาเป็นภาระให้เทศบาลเมืองเค้าอีก แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบในวงกว้างก็คือมันจะทำให้เมืองที่มี Akiya อยู่เยอะๆ ค่อยๆถูกลบออกไปจากแผนที่ครับ ก็แหงล่ะ เมืองที่มีแต่บ้านร้าง ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย มันจะเป็นเมืองไปได้ยังไง และจะส่งผลเป็น Domino Effect ต่อราคาอสังหาฯ และ Business Ecosystem ในเขตพื้นที่นั้นๆ อย่าลืมนะครับ Akiya บางแห่ง ไม่ได้เป็นแค่บ้านเดี่ยว แต่เป็นพื้นที่ฟาร์มเป็นหลายสิบหลายร้อยไร่ก็มีให้เห็นเช่นกัน

ใครอยากรู้ว่าหน้าตาของ Akiya ตามชนบทเป็นอย่างไร ลองเข้าไปส่องดูได้ที่เวปนี้ และอีกหลายๆเวปครับ

เครดิตภาพ: http://www.inakanet.jp/

อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นเค้ามี DNA ของความคิดสร้างสรรค์และสามารถมองหาโอกาสจากปรากฎการณ์บ้านร้างแบบนี้ได้หลายธุรกิจเหมือนกันครับ (ขอนอกเรื่องนิดนึง)

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่รับจ้างทำความสะอาดอพาร์ทเมนท์ หรือบ้านที่มีคนตายอย่างโดดเดี่ยว (ส่วนใหญ่ก็แก่ตายไม่มีใครรู้ กว่าจะรู้ก็ผ่านไปเป็นปีแล้ว จนเจ้าของห้องมาตามเก็บค่าเช่าปีถัดไปล่ะครับ)

 

จากข้อมูลของ The Association of Cleanout Professionals ได้เผยให้เห็นว่าในบรรดาธุรกิจรับจ้างทำความสะอาดที่มีบริษัทสมาชิกกว่า 8,000 แห่ง พบว่าตลาดรับเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านทั้งญี่ปุ่นมี Market Cap ประมาณปีละ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในจำนวนนี้ 30% เป็นรายได้ที่มาจากการรับจ้างทำความสะอาด Akiya และ 20% เป็นบ้านที่มีคนแก่ตายอยู่โดดเดี่ยวในนั้น! โดยที่ผู้จ้างส่วนใหญ่เป็นเจ้าของอพาร์ทเมนท์ หรือญาติของผู้เสียชีวิต

ตัวอย่างการเก็บกวาดบ้านของบริษัท Tail Project ที่มาภาพ https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/2164801/dying-alone-japan-industry-devoted-disposing

นอกจากราคาทำความสะอาดที่สูงกว่าบ้านปกติแล้ว คือราวๆ 2,000 – 10,000 เหรียญสหรัฐต่อห้อง ต่อหนึ่งวัน บริษัททำความสะอาดเหล่านี้ยังต้องเสียภาษีค่าทิ้งขยะให้กับทางเทศบาลในอัตราที่สูงมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็ส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจสินค้ามือสอง ของเก่าด้วยเช่นกัน เพราะทุกครั้งที่บริษัททำความสะอาดก็จะมีการแยกสิ่งของออกเป็นขยะ และสิ่งของที่นำไปขายต่อได้ซึ่งจะมีการแพ็คไว้อย่างดี ซึ่งมีสถิติบอกว่าตลาดสินค้ามือสองที่ญี่ปุ่นในปี 2016 มีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กินมูลค่าถึง 4.1% จากธุรกิจรีเทลทั้งหมดของประเทศ โดยในบรรดาของมือสองทั้งหมดอันดับหนึ่งเลยคือเสื้อผ้า รองลงมาคือของแบรนด์เนม จนทำให้เกิดแบรนด์ร้านค้ามือสอง โรงรับจำนำ และร้านสินค้าราคาเดียวมากมายทั่วประเทศ และเยอะมากจนต้องขยายสาขาไปต่างประเทศด้วยแหน่ะ อย่างเช่นแบรนด์ Eco Ring, Book Off, Ragtag, Hard Off, Mode Off ฯลฯ

 

ไม่แน่เครื่องเล่นเกมมือสองที่เราเคยไปหาซื้อกันที่ Book Off หรือบางร้านในย่านอากิบะ อาจจะมีบางชิ้นมาจาก Akiya ก็เป็นได้… บรื้อออ

เครดิตภาพ: https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/2164801/dying-alone-japan-industry-devoted-disposing

อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีตามปรากฎการณ์ Akiya ก็คือธุรกิจส่งนมตามบ้านแบบ Knock Door ที่ได้รับความนิยมเนื่องจากลูกหลาน หรือเจ้าของห้องพักจะได้รู้ว่าบ้านหลังนั้นๆ ยังมีคนอยู่ดีหรือเปล่า หรือว่าเสียชีวิตไปแล้ว นับว่าเป็น Unmet Need ที่ Work จริงๆครับ

ข้อมูลและรูปภาพจากเพจ อิอ้น ด้นสด

https://www.facebook.com/eontdontsod/posts/2256645721219013

 

แน่นอนว่าเมื่อทำความสะอาดเรียบร้อยอพาร์ทเมนท์เหล่านั้นก็จะถูกนำมาปล่อยเช่าต่อ หรือนำมาประกาศขายในแบบราคาถูกกว่าตลาดตามเวปไซต์รวบรวม Akiya และเวปไซต์ที่เป็น Listing ของบรรดานายหน้าครับ (ที่ญี่ปุ่นเค้ามักจะระบุตรงๆถึงปูมหลังของบ้านนั้นๆครับ ไม่ค่อยจะมีโกหกเรื่องประวัติของบ้านว่าเป็นมาอย่างไร)

ตัวอย่างบ้าน Akiya ที่วากายาม่า หลังนี้ 433.88 ตารางเมตร ราคา 3.5 ล้านเยนครับ

รูปภาพจาก: https://www.wakayamagurashi.jp/house/akiya/437

สำหรับใครที่ชอบอ่านแนวรีวิว ก็สามารถหาอ่านได้จากเวปบล็อคหลายแห่งเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาญี่ปุ่น

ที่มา: https://inakanoseikatsu.com/

หากใครชอบหาในแบบใจกลางเมืองย่านชุมชนก็ขอเชิญเข้าไปที่เวปนี้ครับ https://www.hatomarksite-zentaku.com/  หน้านี้ผม Search ที่ชิบะ

แม้กระทั่ง Web Listing ชั้นนำอย่าง https://www.homes.co.jp ก็ยังทำหน้า Landing แยกออกมาต่างหาก แสดงถึงความนิยมจริงๆครับ

แน่นอนว่าบ้านเหล่านี้มีราคาที่ถูกกว่าบ้านมือหนึ่ง และบ้านมือสองที่ยังคงมีเจ้าของบ้านอยู่หลายเท่าตัวครับ แต่ไอ้คำว่าถูกเนี่ยมันคือถูกจริงหรือเปล่า และจริงหรือไม่ที่บางหลังเค้าก็ให้ฟรีๆภายใต้ข้อตกลงบางอย่าง?

 

จริงครับ! แต่เนื่องจากบ้านเหล่านั้นถูกทิ้งร้างเอาไว้นานมาก หลายๆแห่งแม้จะเพิ่งถูกทำความสะอาด Big Cleaning ไป แต่บ้านที่ไม่มีคนอยู่ยังไงมันก็คือบ้านที่ขาดการดูแลครับ หลายๆคนที่ซื้อไปก็เลยตัดสินใจทุบบ้านทิ้งก็มี เพราะบางหลังปลวกกินหมดแล้ว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการ Renovated ที่ญี่ปุ่นก็ค่อนข้างสูง คืออยู่ระหว่าง 3 แสน ถึง 8 แสนเยนต่อหนึ่งเสื่อ หรือราวๆ 3.3 ตรม. (Tsubo) ทั้งนี้เพื่อเป็นการอัดฉีดโปรโมชั่นให้บ้านเหล่านี้มันขายได้ เพื่ออนาคตของเมืองโดยรวม รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งก็ได้มีการออกโปรโมชั่นช่วยจ่ายค่าซ่อมแซมให้ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในอัตรที่พบเห็นได้สูงสุดถึง 2 แสนเยน และยังได้รับอัตราดอกเบี้ยแบบ Fixed Rate ดอกต่ำมาก จากธนาคารในระยะเวลากู้ถึง 35 ปี

 

ทั้งนี้บ้านแนว Akiya ส่วนใหญ่ที่ราคาถูกมากๆ หรือมีการโฆษณาว่าให้ไปเลยฟรีๆมักจะมี Condition เพิ่มเติมบางอย่างครับ ข้อแรกก็คือหากคุณตัดสินใจซื้อแล้ว คุณต้องเข้ามาอยู่อย่างถาวรครับ แลกกับการที่ผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเงินก้อน แต่เป็นในลักษณะเช่าซื้อจากทางเทศบาลท้องถิ่นแทน ยกตัวอย่างเช่น ในจังหวัดมิยางิ หากต้องการเป็นเจ้าของ Akiya คุณต้องจ่ายค่า Rental Fee เป็นจำนวน 35,000 เยนต่อเดือน ติดต่อกันไป 20 ปี  โดยหลังจากปีที่ 21 บ้านหลังนั้นถึงโอนเป็นชื่อคนซื้อได้

 

ส่วนที่โตเกียวจะมีข้อกำหนดที่พิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ผู้ซื้อต้องมีอายุต่ำกว่า 43 ปี ต้องอยู่เป็นครอบครัว จะแต่งงานหรือไม่ก็ได้ โดยที่ต้องมีลูกที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป ซึ่งยิ่งมีลูกมากเท่าไหร่ค่าเช่าก็จะถูกลงประมาณ 5,000 เยนต่อคนต่อเดือน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงดูดประชากรในวัยทำงาน และเริ่มต้นทำงานเข้ามาในเมือง

 

เราเห็นบ้าน Akiya หลายๆแห่งมีลักษณะเป็นบ้านพร้อมไร่นา ซึ่งการที่จะครอบครองบ้านเหล่านี้ได้ก็มี Condition เพิ่มเติมเช่นกัน

ที่มาภาพ: http://www.inakanet.jp/

โดยผู้ที่ซื้อจะต้องได้รับในอนุญาตในการทำไร่จากหน่วยงานเกษตรกรรม และปศุสัตว์ท้องถิ่น และต้องประกอบอาชีพทำฟาร์มแบบจริงจัง จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนั้นๆมาเช็คดูอีกที แต่หากว่าคุณไม่อยากที่จะประกอบอาชีพนี้คุณสามารถยื่นผ่อนผันการทำฟาร์มออกไปได้ เมื่อหมดอายุผ่อนผัน เจ้าของที่ก็มีทางเลือกในการปล่อยเช่าพื้นที่ฟาร์มให้ชาวสวนคนอื่นได้

 

ผมลองไปศึกษาข้อมูลดูพบว่ามีทำเลนึงที่ค่อนข้างมีศักยภาพ และสนับสนุนให้คนย้ายเข้ามาอยู่เยอะๆในแบบไม่ต้องซื้อที่ดิน มีความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม และอยู่ใกล้โตเกียวในแบบเดินทางโดยรถไฟแค่ 1 ชม.เองครับ นั่นคือ Okutama เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว ซึ่งข้อมูลจาก Wikipedia ระบุว่ามีขนาดพื้นที่ประมาณ 225.5 ตารางกิโลเมตร แต่มีจำนวนประชากรเมื่อปี  2559 แค่ 5,177 คนเองครับ!

ที่มาภาพ: https://www.gotokyo.org/en/destinations/outlying-area/okutama-and-around/index.html

 

โดยเมื่อปีที่แล้วสภาเมืองมีแนวคิดที่จะสร้างโครงการเพื่อต้อนรับผู้ที่ต้องการย้ายเข้ามาพักในเมืองนี้ ซึ่งก็เป็นการนำเอาบ้านที่ไม่มีคนอยู่ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าไร้เจ้าของ มาเป็นโครงการบ้านรูปแบบต่างๆ รวมถึงอพาร์ทเมนท์ขนาดราวๆ 50 ตารางเมตร ภายใต้ข้อกำหนดในแบบเดียวกับที่โตเกียว (เพราะอยู่ติดกัน) คือ ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีอายุต่ำกว่า 43 ปี ต้องอยู่เป็นครอบครัว จะแต่งงานหรือไม่ก็ได้ โดยที่ต้องมีลูกที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมขึ้นไป โดยจะต้องจ่ายค่ารายเดือนเดือนละ 50,000 เยนให้กับสภาเมือง ครอบครัวไหนที่มีลูก 2 คนจะได้ส่วนลดเหลือเดือนละ 40,000 เยน ส่วนใครมีลูกสามคนจ่ายแค่เดือนละ 35,000 เยน ยิ่งไปกว่านั้นหากใครขยันมีลูกถึง 10 คนจะได้อยู่ฟรีกันไปเลยตลอดชาติ… แม่จ้าวเว้ยยยย

 

ซึ่งหากใครที่ตัดสินใจอยู่นี่แล้วก็ต้องใช้เวลาถึง 22 ปี ถึงจะได้กรรมสิทธิ์ในตัวที่ดินและบ้าน ไม่ต้องจ่ายรายเดือนอีกต่อไป หนีไปก่อนก็ถือว่าโมฆะ…ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นความพยายามของญี่ปุ่นและรัฐบาลท้องถิ่นในการแก้ปัญหาการขาดแคลนจำนวนประชากรที่หายไปเกือบครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว และกว่าครึ่งนึงของคนห้าพันกว่าคนที่นี่ล้วนแล้วแต่เป็นประชากรสูงวัยอายุเกินกว่า 65 ปีทั้งสิ้น…ซึ่งก๋แน่นอนว่าโมเดลแบบนี้จะถูกนำมาใช้ทั่วญี่ปุ่นแน่นอนในอนาคตอันใกล้

แล้วสำหรับคอนโดหรืออพาร์ทเมนท์ปล่อยเช่าที่อยู่ในเขตใจกลางเมืองล่ะ ได้รับผลกระทบจากการลดลงของจำนวนประชากรด้วยไหม? แน่นอนครับว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าอพาร์ทเมนท์นั้นจะอยู่ใจกลางย่านชินจูกุ หรือย่านอุเมดะก็เหอะ เราจึงเห็นความพยายามของ Owner/ Landlord จำนวนมากในโตเกียวและโอซาก้าที่จะปล่อยเช่าระยะสั้นผ่านทางเวปมินปากุหลายแห่ง โดยอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจก็คือเค้าพยายามที่จะสร้างจุดขายเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดกลุ่มคนเช่าแนว Family มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจุบันกลุ่ม Family ขนาดใหญ่มักเลือกที่จะเช่าบ้านอยู่ชานเมืองในแบบมีพื้นที่ใหญ่ๆเนื่องจากอพาร์ทเมนท์ใจกลางเมืองส่วนมากมักจะมีขนาดราวๆ 30 – 60 ตรม เท่านั้น และมีค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง

 

ประมาณว่าเดิมทั้งอาคารมีอยู่ 20 ห้องแต่เป็นห้องขนาด 50 ตรม. เดิมทีอาจจะมีผู้เช่าเต็ม แต่พอมายุคนี้คนล้มหายตายจากไปเรื่อยๆจนเหลือผู้เช่าแค่ 10 ห้อง ห้องที่เหลือยังไงก็ปล่อยเช่ายาก เจ้าของอพาร์ทเมนท์ก็เลยจัดการทำเป็นห้อง Combined Unit 100 ตรม.ซะเลย จากเหลือ 10 ห้อง ก็กลายเป็นเหลือ 5 ห้องและเป็นห้องที่ใหญ่ขึ้น ค่าเช่าอาจจะถูกกว่าการเช่า 2 ห้องติดกัน แต่นี่ออกแบบใหม่ทุบกำแพงออก ทำให้พ่อแม่ลูกรวมถึงปู่ย่าตายายมาอยู่ด้วยกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น..เป็น Competitive Offer ที่ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในตอนนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ปล่อยเช่าได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวอาคารเองมีความคึกคักขึ้นตามด้วย

 

ตัวอย่างการทำ Combined Unit เพื่อให้ปล่อยเช่าง่ายขึ้นจาก https://soranews24.com/

เอาเป็นว่าการเลือกซื้อบ้านแนว Akiya นี้น่าจะเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นครับ ซึ่งสำหรับชาวญี่ปุ่นเองเค้าก็ไม่ค่อย Mind ในเรื่องของปูมหลังในตัวบ้านเท่าไหร่ว่าเคยมีคนเสียชีวิตแบบถูกลืมไว้ในบ้านหรือเปล่า ซึ่งโมเดลในการเข้าครอบครอง Akiya เหล่านี้ถือว่าน่าสนใจมากเนื่องจากเป็นการพยายามแก้ปัญหาอย่างตรงจุด Win-Win ร่วมกันระหว่างประชากรญี่ปุ่น และหน่วยงานราชการท้องถิ่น ที่ในที่สุดแล้วผลประโยชน์ก็จะกลับเข้าไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอีกครั้งอยู่ดีครับ เพราะหากเลือกที่จะไม่ทำอะไรก็เชื่อได้ว่าในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะมีเมืองเล็กหลายร้อยเมืองในญี่ปุ่นที่หายไปจากแผนที่สำรวจประชากรครับ…แล้วประเทศไทยล่ะทิศทางในอนาคตจะเป็นแบบไหน ใครอยากรู้ก็คงจะต้องรอดูต่อไปเพราะอีกไม่กี่ปีประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว แต่หลายๆหน่วยงานก็ยังทำงานแบบ Passive อยู่…ส่วนตัวผมเห็นทีว่าทางเลือกในการซื้อ Akiya ที่ชิบะก็คงจะดีไม่ใช่น้อย

 

แหล่งอ้างอิง

https://blog.gaijinpot.com/buy-abandoned-house-in-japan/

https://www.cnbc.com/2018/11/22/japan-free-homes-empty-houses-given-away-and-sold-cheap.html

https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/2164801/dying-alone-japan-industry-devoted-disposing

https://soranews24.com/2019/06/25/depopulation-in-japan-leads-company-to-renovate-two-apartments-into-one-huge-living-space/

https://soranews24.com/2018/04/18/buying-a-house-in-tokyo-this-town-is-giving-away-brand-new-homes-to-applicants-in-japan/

https://www.rethinktokyo.com/2018/09/19/akiya-banks-abandoned-homes-japan

เกริก บุณยโยธิน

เกริก บุณยโยธิน

ผู้ก่อตั้งเวปไซต์แบ่งปันความรู้ด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ในวงการอสังหาฯ พร็อพฮอลิค ดอทคอม..หลังจากที่ใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการวนเวียน เข้าๆออกๆ ในสายงานด้านการตลาด และวางแผนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ของบริษัทอสังหาฯ และเอเยนซีโฆษณาชั้นนำหลายแห่ง (โดยที่ไม่รู้ว่าทำไมต้องจับสลากเจอลูกค้าสายอสังหาฯทุกที)...จนถูกครอบงำโดยจิตใต้สำนึก ให้ถีบตัวเองออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อออกมาจุดประกายความคิดที่ถูกต้อง และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจอสังหาฯ

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง