5 ข้อต้องรู้ก่อนลงทุนคอนโดมิเนียม เพื่อปิดประตูความเสี่ยง!

ต่อทอง ทองหล่อ 20 July, 2016 at 13.30 pm

ประกาศที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา


การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ถือว่าเป็นสวรรค์แห่งการลงทุนของใครหลายๆ คนในประเทศไทย เพราะราคาต้นทุนที่ยังไม่สูงเท่าประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง นอกจากนี้อสังหาฯ ยังตอบสนองความต้องการได้หลายอย่าง เช่น ตอบสนองด้านจิตใจเพราะเป็นตัวบ่งบอกไลฟ์สไตล์รสนิยมของผู้ลงทุน ตอบโจทย์ด้านความรู้สึกมั่นคงเพราะเราเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์เพื่อส่งต่อมรดกให้ลูกหลานหรือยามเราแก่เฒ่า ตอบสนองด้านการเงินเพราะเป็นช่องทางของรายได้ cash flow ที่เข้ากระเป๋าเราเป็นประจำ

 

แต่สวรรค์อาจกลายเป็นนรกก็ได้ ถ้าเราเลือกลงทุนผิดที่ ผิดเวลา ผิดคน วันนี้ผมขอเสนอความเสี่ยงต่างๆ ที่นักลงทุนอสังหาฯ ประเภทคอนโดมิเนียมปล่อยเช่าจะต้องรู้ให้ลึก สำรวจให้ดี เพื่อจะ “เข้าใจ” สินทรัพย์ที่ลงทุน และถึงขั้น “ทำใจ” ด้วยครับ

 

ผมจะเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังของ 5 ความเสี่ยงเหล่านี้ตาม Timeline ลำดับขั้นการลงทุนนะครับ เช่น ก่อนจะซื้อก็ต้องดูทำเลก่อน หลังจากนั้นดูที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไปเรื่อยๆ จนถึงข้อสุดท้ายครับ

ความเสี่ยงที่ 1 ทำเลเสื่อมถอยลง (Downtrend Location)

 

ระดับความเสียหาย Level 4

 

ทำเลที่เรากำลังจะไปลงทุน มีแนวโน้มอนาคตดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรบ้าง ข้อนี้ต้องพิจารณาเหตุผลหลายๆ ปัจจัยรวมกันเพื่อได้ข้อสรุปว่าทำเลนั้นจะรุ่งหรือจะร่วง เช่น เป็นทำเลที่เป็นแหล่งงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตหรือเปล่า เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เป็นทำเลที่คนอายุกี่ปีมักจะอยู่อาศัย เป็นทำเลที่มีระบบการเดินทางอย่างไร กำลังจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง มีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติมที่มีผลกระทบต่อทำเลเราอย่างไร มีทางด่วนมาพาดเพิ่มความสะดวกหรือลดความสะดวก เทรนด์ความคิดของคนในสังคมเป็นอย่างไร มีการตัดถนนเพิ่มหรือไม่ แนวโน้มคนย้ายเข้าออกมากน้อยแค่ไหน เขตนั้นมีการจัดเก็บภาษีเติบโตมากขึ้นหรือน้อยลง มีร้านค้ากิจการปิดตัวหรือเปิดตัวเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ไลฟ์สไตล์และความคิดความเชื่อภูมิหลังของคนในถิ่นนั้นเป็นอย่างไร

 

หลักการคิดคือ ให้เรามองการลงทุนอสังหาฯปล่อยเช่าของเราเป็นธุรกิจหนึ่งของเรา ดังนั้นเราต้องวิเคราะห์อย่างนักธุรกิจ ไม่ใช่วิเคราะห์แบบเข้าข้างตัวเองเพราะเคลิบเคลิ้มไปกับดีไซน์ของอาคารหรือพื้นที่ส่วนกลางที่หรูหรา เพราะบางทีโครงการคอนโดมิเนียมหลายแห่งตั้งในทำเลที่ไม่ดี เขาจึงต้องชดเชยเรื่องทำเลด้วยมูลค่าเพิ่มอื่นๆ แทน  อย่าวิเคราะห์ด้วยความอยากได้เป็นตัวนำ แต่วิเคราะห์ด้วยข้อมูลและความเป็นจริงของทำเลนั้น

 

ถ้าเราวิเคราะห์ผิด ลงทุนผิดทำเล ทำเลนั้นอาจเป็นทำเลที่อยู่ในระยะซบเซาระยะยาวมากกว่า 10 ปี ซบเซาถาวรหรือเป็นทำเลแช่แข็งไม่เติบโตก็เป็นได้ เราจะพบกับความเสียหายในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เงินที่เราลงไปอาจสูญเสีย ปล่อยเช่าปล่อยขายในราคาต่ำกว่าทุน ซื้อไปไม่มีคนเช่าทำให้เราเสียแต่ดอกเบี้ยให้ธนาคาร รายได้ไม่เข้า สรุปคือต้องยอมจ่ายไปจนจบ หรือไม่ไหวจริงคือปล่อยให้ธนาคารยึดกลายเป็นหนี้เน่า

 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยเห็นทำเลที่ซบเซามาแล้วเช่น เคสแรกทำเลย่านที่พักแหล่งงานอุตสาหกรรมเขตเหนือกรุงเทพหลังจากที่โดนน้ำท่วมใหญ่ โรงงานแหล่งงานย้ายฐานการผลิตหายเรียบไปที่อื่น อสังหาฯ แถบนั้นซบเซาทันที ต้องรอการเยียวยาขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันยังไม่ได้ติดตามว่าเป็นอย่างไร เคสต่อไปย่านปิ่นเกล้าเคยเป็นย่านที่เฟื่องฟูมากในอดีตแล้วก็ซบเซาไป แต่ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าผ่านจึงทำให้ย่านปิ่นเกล้าดูสดชื่นสดใสขึ้นมาอีกครั้ง เป็นย่าน Turn around เคสสุดท้าย ย่านถนนสามัคคี แท้จริงดูเป็นจุดเชื่อมต่อของถนนใหญ่ เป็นทางผ่านที่ดี และสามารถเชื่อมกับทางด่วนได้ด้วย แต่สภาพถนนหนทางที่ย่ำแย่ไม่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นจึงทำให้ย่านนั้นไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ความเสี่ยงอีกแบบคือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทางรัฐมีความล่าช้าจนกระแสหายและกลับมาเป็นย่านที่ไม่เติบโต

 

ภาพอดีตโครงการบางกอกเทอร์มินอลแถวหมอชิตเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ย่านหมอชิตถูกแช่แข็งมานานจนถึงวันนี้เริ่มกลับมาสดใสขึ้น

IMG_20160715_151017

ความเสี่ยงด้านทำเลเราสามารถปิดความเสี่ยงได้ง่าย เพราะทำเลเป็นสิ่งลำดับแรกที่เราจะพิจารณา ถ้าเราไม่เอาก็จบครับ นอกเสียจากว่าเอาไปแล้ว แต่มาซบเซาทีหลัง อันนี้ต้องแก้ไขโดยการปล่อยขายด่วน ถือต่อแบบเศร้าๆ หรือเอามาอยู่เองก็ได้ครับ ถ้ามองแง่ดีหน่อยก็อาจจะถือต่อเพื่อรอเธอกลับมาครับ

 

ความเสี่ยงที่ 2 ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ( Bad Developer)

 

ระดับความเสียหาย Level 5

 

คำว่าธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ พูดเป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ คือ เป็นองค์กรดี ทำสินค้าผลิตของดีมีคุณภาพ รับผิดชอบดี ไม่คดโกง ปัญหาธรรมาภิบาลต่ำของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นเคยมีมากมายช่วงก่อนปี 2540 ก่อนที่กฎเกณฑ์กฎหมายอสังหาฯ จะรัดกุมถึงวันนี้ สมัยรุ่นปู่รุ่นพ่อของผู้เขียนนั้น พบเห็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่ไม่ใช่มือโปรมากมายออกมาทำบ้านจัดสรร ทำโครงการต่างๆ แล้วเจ๊ง ผู้ซื้อ ผู้ลงทุนสูญเสียกันไปมาก ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงขั้นสูงสุดของการลงทุนอสังหา ไม่มีอะไรเจ็บแค้นไปกว่าดาวน์เงินไปแล้วไม่ได้ทรัพย์สินที่ต้องการซื้อ แต่ที่น่าเสียใจมากที่สุดคือ ซื้อแล้ว จ่ายเงินแล้ว แต่ได้รับสินค้าคุณภาพต่ำเกินกว่ายอมรับได้และไร้วี่แววการรับผิดชอบจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหา ซึ่งความเสี่ยงด้านนี้อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้ครับ ดังนั้นการดูประวัติความเลวร้ายของโครงการที่เรากำลังจะซื้อเป็นสิ่งสำคัญ

 

ภาพโครงการ The Victory Condominium ศรีอยุธยา 8 ที่ฝังใจใครหลายคน

IMG_20160715_153437

นอกจากนี้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ซึ่งนำโดยผู้บริหารแต่ละบริษัทจะมี “สไตล์การบริหาร” เป็นของตัวเอง เราจึงต้องดูและมองให้ออกว่า ผู้บริหารมีนโยบายและสไตล์อย่างไร บางที่ใส่ใจกับคุณภาพสินค้า บางที่ใส่ใจกับภาพลักษณ์ระยะสั้น บางที่ใส่ใจการบริการระยะยาว บางที่ไม่ใส่ใจอะไรเลยขายแล้วจบไปทีเดียวที่เหลือจัดการเอาเองแต่เสนอราคาไม่แพง หรือบางทีเลวร้ายมากคือคิดแพงแถมไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น

 

ทีนี้เราก็ต้องมานั่งพิจารณาว่านักลงทุนอย่างเราเหมาะกับผู้พัฒนาอสังหาแบบไหน แต่ทางที่ดีเราควรหา developer ที่ตรงกับสไตล์การลงทุนของเราและตรงกับความต้องการของลูกค้าที่จะมาเช่าเราครับถึงจะเพอร์เฟกต์ เช่น ธุรกิจปล่อยเช่าของเรามีลูกค้าเป็นต่างชาติ เราก็ต้องมาหา developer ที่ทำงานเป็นระบบสากล

 

แต่ที่แน่ๆ developer ที่เราควรอยู่ให้ห่างๆ คือ developer ที่มีความผิดพลาดซ้ำซาก ขนาดมีคนด่าในอินเทอร์เน็ตหรือฟ้องเอาผิดทางกฎหมายแต่ก็ยังไม่แก้ไขปัญหานั้นสักที แบบนี้ก็ไม่ควรเสี่ยงเอาเงินไปลงทุนโครงการนั้นครับ เก็บเงินสดไว้ก่อนอาจจะกำไรมากกว่าด้วยซ้ำ

 

ความเสี่ยงข้อนี้เรามักจะเจอกันในช่วงหลัง Presale คือจ่ายเงินทุกเดือนแต่ทำไมไม่สร้างสักทีนะ ถ้าเราเจอบอกได้เลยคำเดียวว่าคือความซวยที่ต้องทำใจและต่อสู้ทางกฎหมายกันต่อไป ดีหน่อยคือได้เงินคืนแบบไม่มีดอกเบี้ย เลวสุดคือสูญเงินหายต๋อมไปหมดทั้งก้อนเลยครับ เหลือไว้แต่คราบน้ำตาแห่งความเสียใจ นี่แหละครับชีวิต

 

ความเสี่ยงที่ 3 ผู้เช่าทำตัวไม่น่ารัก (Bad Tenants)

 

ระดับความเสียหาย Level 2

ข้อนี้เป็นเหตุการณ์ที่เราพบเจอได้หลังจากโอนกรรมสิทธิ์เป็นของเราสมบูรณ์แล้ว วิธีการหาผู้เช่าของเรามีไม่กี่แบบครับ แต่แบบที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงคือ ให้ Agent หาผู้เช่าให้ เพราะ agent ได้เงินแบบครั้งเดียวจบดังนั้นคุณภาพในการคัดกรองผู้เช่าจะมีไม่มากนัก และอีกแบบที่มีความเสี่ยงสูงพอๆ กันคือ เราเป็น Owner ที่จิตใจอ่อนโยนเกินไป ใจดีใจอ่อนยอมตามผู้เช่าสายเบี้ยวมากเกินไปจนเราขาดทุนครับ

 

ผู้เช่าที่ไม่น่ารักมีหลายรูปแบบครับ หลักๆ ที่พบบ่อยคือ ค้างค่าเช่า เล่าความเท็จ ทำห้องเสียหาย ทำความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน เช่น จอดรองเท้าไว้หน้าห้องเดือดร้อนคนอื่นจนนิติฯ ต้องโทรมาฟ้องเจ้าของห้องเราอย่างเราให้ปวดหัว

 

ภาพตัวอย่างพฤติกรรมผู้เช่าผู้ไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่

IMG_20160715_151040

ความเสี่ยงข้อนี้ Owner ทุกคนต้องเคยเจอครับ ให้เตรียมทำใจได้เลย แต่ทางที่ดีนักลงทุนสายปล่อยเช่าทุกคนต้องปิดประตูความเสี่ยงข้อนี้ ให้ได้ โดยการตั้งกฎระเบียบที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อผิดกฎระเบียบ ผ่อนผันให้ผิดพลาดได้แค่ 1-2 ครั้งแล้วแต่เรา หลังจากผิดซ้ำต้องลงโทษตามที่ตกลงกันไว้ได้จริง ห้ามใจอ่อน ถ้าทำแบบนี้ได้เราจะเป็น Owner ที่ Strong ขอให้ยึดหลักการ “อย่าเอาเปรียบเขา และอย่าให้เขามาเอาเปรียบเรา”

 

เคล็ดลับการปิดความเสี่ยงข้อนี้ไม่ยากครับ เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือหลายอย่างที่ป้องกันความเสี่ยงได้ เช่น ตั้งเกณฑ์เงินค่าประกันต้องจ่ายครบถ้าจ่ายไม่ครบไม่รับ, แอบสืบดูตาม Social Network, ดูหลักแหล่งการทำงาน ประวัติการทำงานเข้าออกแต่ละบริษัทอย่างไร, สังเกตด้วยตาเสื้อผ้าหน้าผมแววตาบุคลิกภายนอกน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่ระวังว่าภาพลักษณ์ภายนอกก็ไม่ได้สื่อถึงภายในได้ 100% นะครับ จงระวังคนรูปสวยภายนอกแต่ปัญหาเยอะก็มีครับ บางคนดูไม่น่าเชื่อถือแต่จ่ายเงินตรงก่อนเวลากำหนดทุกเดือนน่ารักสุดๆ ก็มีครับ

 

ความเสี่ยงที่ 4 เพื่อนบ้านไม่สนใจกัน (Bad Neighbors)

 

ระดับความเสียหาย Level 2

 

ข้อนี้เป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความ “ใกล้” ครับ ถ้าอยู่ร่วมในตึกเดียวกันอาจแค่เฉยๆ แต่ถ้าอยู่ห้องข้างๆ หรือข้างบน อาจจะเป็นตัวแปรสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินเราครับ เช่นเคสที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ เคสข้างห้องเสียงดัง ซึ่งอาจจะเสียงดังโดยนิสัยของเค้าเอง อาจเป็นครอบครัวที่พูดจาเสียงดังเป็นปกติ เสียงก็ลอดผนังออกมาใส่หูผู้เช่าสร้างความรำคาญจนอยากย้ายออกได้ นอกจากนี้ยังมีพวกเสียงดังเพราะลูกยังเล็กและเป็นเด็กขี้แยร้องไห้ดัง หรือบางเคสจะเป็นคู่ที่มีกิจกรรมในร่มที่เสียงดังโหยหวนเกินพิกัดสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ร่วมอาศัยมากจนกลายเป็นความรำคาญครับ (ฮา) รวมเรียกเคสนี้ว่า เสียงดังพังตึกครับ

 

เคสที่สร้างความเดือดร้อนอีกอันคือ มนุษย์บุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง เช่น สูบเสร็จบุหรี่เสร็จก็โยนออกนอกตึกปลิวเข้าห้องคนอื่นแบบไม่ดับก้นบุหรี่ด้วย เสี่ยงต่อการไฟไหม้อย่างมาก

 

อีกเคสที่น่ารำคาญพอตัวคือเพื่อนบ้านเห็นแก่ตัว ไม่ทำตามกฎระเบียบ เอารถยนต์มาจอดจำนวนเกินกำหนด ทำให้ที่จอดรถโดยรวมไม่เพียงพอ

 

ภาพบุหรี่ที่ระเบียง

IMG_20160715_152150

ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมาก แค่รำคาญใจ แต่ก็มีผลต่อการเช่าต่อระยะยาวของลูกค้าเราครับ ถ้าเจอเพื่อนบ้านแย่ๆ แบบนี้ก็มีหลายทางให้เลือกทำครับ เช่น เตือนเพื่อนบ้านด้วยจดหมายน้อยอย่าไปด่าเขา เสนอลดราคาค่าเช่าหากลูกค้าของเราเจอเหตุการณ์นี้บ่อยๆ เขาอาจจะยอมทนอยู่ต่อเพื่อแลกกับข้อเสนอทางการเงิน หรือถ้าสบโอกาสขายห้องหนีแบบมีกำไรก็ขายเลยครับ จะได้เอาเงินไปลงทุนที่อื่นต่อ

 

ความเสี่ยงที่ 5  ขบวนการบริหารนิติบุคคลทุจริตเงินด้วยวิธีที่ผิดและถูกต้องตามกฎหมาย (Bad Management)

 

ระดับความเสียหาย Level 5

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าปวดสมองที่สุด และสร้างความเสียหายได้มากที่สุดของเหล่านักลงทุนคอนโดมิเนียมครับ เพราะทุกคอนโดต้องมีการจ่ายค่าส่ วนกลาง ต้องมีนิติบุคคลมาบริหารอาคาร ซึ่งล้มหรือไม่มีก็ไม่ได้ ถ้าเจอนิติฯ ดีๆ ก็เหมือนขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าเจอนิติฯ แย่ๆ ก็เหมือนตกนรกครับ เพราะอาจสร้างความเสียหาย สูญเสียเงิน ซึ่งทำให้ไม่มีเงินในการปรับปรุงดูแลอาคารจนในที่สุดทรัพย์สินที่ดูดีกลายเป็นดูแย่เสื่อมค่ารอการฟื้นฟูต่อไป

 

ชื่อหัวข้อความเสี่ยงที่บอกว่า นิติบุคคลทุจริตด้วยวิธีถูกต้องตามกฎหมาย ข้อนี้ไม่ได้เขียนผิดนะครับ แต่มันมีเคสแบบนี้จริงๆ

 

ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นคือ ผู้จัดการนิติหรือคนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินทำการยักยอกเงินส่วนกลางออกไปแบบโต้งๆ แล้วหนีหายไปดื้อๆ ก็มี เอาไปเป็นหลักล้านหลักแสนกัน ถ้าเจอแบบนี้ก็ต้องฟ้องกันตามกฎหมายครับซึ่งสุดท้ายจะจบด้วยการระดมเก็บเงินค่าส่วนกลางเพิ่มพิเศษเพื่อชดเชยเงินที่สูญเสียไป ที่บอกไปนี้คือโกงกันตรงๆ

 

แต่ปัจจุบันโลกไปไกลแล้ว การโกงมีสารพัดวิธี เดี๋ยวนี้มีขบวนการโกงแบบถูกกฎหมายจะเรียกว่าเป็นโจรใส่สูทก็ได้ครับ ขบวนการเค้าจะมีแบบแผนหรือ Pattern แบบนี้ครับ ช่วงแรกๆ จะขอแอดไลน์คนในคอนโด ว่าให้เข้ากรุ๊ปมาคุย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคอนโด อ้างส่วนรวม อ้างว่าตนเป็นคนดี หลังจากรวมมวลชนได้แล้ว หลังจากนั้นทุกครั้งจะมาเข้าประชุมสามัญ แล้วพูดโน้มน้าวให้ที่ประชุมเห็นด้วยว่าต้องเปลี่ยนแปลงนิติบุคคล เปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งจริงๆ ของเดิมอาจจะดีทุกคนอยู่อย่างปกติสุขอยู่แล้ว แต่ขบวนการโจรใส่สูทเหล่านี้จะต้องกระพือเรื่องให้เป็นข่าว สร้างความดราม่า สร้างเรื่องขัดแย้งให้เกิดขึ้น มีการกล่าวหาและต้องถึงฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งคนที่เคยบริหารเดิมจะเบื่อแล้วถอยออกไม่ยุ่งเกี่ยว ทีนี้คือโอกาสของขบวนการเหล่านี้จะเข้ามาดำเนินงานและบริหารคอนโดเข้ามาใหม่แบบยกเซ็ทและบริหารคอนโดไปตามปกติ ดูภายนอกเหมือนปกติสุขดี ไม่มีอะไรน่าสงสัย แต่สิ่งที่เพื่อนบ้านไม่ได้เห็นชัดเจนคือขบวนการเหล่านี้จะมีการฟ้องร้องคณะกรรมการนิติบุคคลชุดเก่าอย่างต่อเนื่องด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ และเงินค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่ขบวนการแบบนี้ใช้นั่นก็คือเงินค่าส่วนกลางของทุกคนในคอนโดนั่นเอง เป็นค่าใช้จ่ายถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไส้ในคือค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมีการแบ่งสรรปันส่วนเอาไว้แล้ว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินส่วนกลางค่อยๆ ทยอยหายออกไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์กับส่วนรวม แทนที่จะเอาเงินไปปรับปรุงตึกแต่ก็ต้องเอามาจ่ายค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย เมื่อสูบเงินออกมาได้ถึงจุดหนึ่งไม่ถึงกับเจ๊ง หลังจากนั้นขบวนการเหล่านี้จะย้ายถิ่นฐานไปทำ pattern แบบเดียวกันที่โครงการอื่นๆ ต่อไป เคสนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายเงิน ไม่ถึงกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายแต่ก็ทำให้ผลประโยชน์ของลูกบ้านและนักลงทุนอย่างเราเสียหายได้ทางอ้อมครับ

 

บัญชีรายรับรายจ่ายของนิติบุคคลคอนโดที่นักลงทุนต้องตรวจสอบ

วิธีแก้ไข คือ ควรมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแลยอดบัญชี สอบถามค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่งเรื่องเสนอแนะ ส่งจดหมายให้ผู้ดูแลเงินนิติออกมาชี้แจง อ่านประกาศรายงานทางการเงินที่ปิดไว้บ้าง หูหนักอย่าหูเบา มองคนให้ออกครับ ถ้าอีกวิธีคือซื้อคอนโดมิเนียมที่มีจุดเด่นการบริหารนิติบุคคลที่เป็นธรรมมีธรรมาภิบาลครับ ก็ช่วยให้เราอุ่นใจได้มากทีเดียว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีนะครับ ไม่มีอะไรมีความสุขไปตลอดครับ เพราะมันคือชีวิตจริง!

 

เอาละครับ ความเสี่ยง 5 ข้อของการลงทุนคอนโดมิเนียม ข้อไหนน่ากลัวที่สุดและเสี่ยงที่สุดก็อย่าลืมหาหนทางปิดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดด้วยครับ

 

ขอให้ทุกคนเจอคนที่ใช่ เอ้ย เจอคอนโดที่ใช่ห่างไกลความเสี่ยงครับ

ต่อทอง ทองหล่อ

ต่อทอง ทองหล่อ

บรรณาธิการสื่อเกี่ยวกับการศึกษา และ Blogger ผู้มีผลงานการวิเคราะห์ด้านอสังหาฯ มามากกว่าร้อยบทความ ยังเป็นผู้สนใจลงทุนคอนโดมิเนียม ชอบใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad รักการเดินเท้าและเลือกใช้ขนส่งมวลชนสำรวจความเปลี่ยนแปลงของทำเลสถานที่ผ่านมุมมองการเข้าใจมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็น Active Citizen ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเมืองผ่านงานเขียนและเครื่องมือสื่อสารที่เชื่อมรัฐกับประชาชน เป้าหมายระยะยาวต้องการเห็นคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคม ติดตามผลงานได้ที่ https://matttortong.weebly.com

เว็บไซต์

ศุภาลัย พรีเมียร์ สามเสน-ราชวัตร

โซลเลซ พหลฯ-ประดิพัทธ์

นิว เวิร์ส กรุงเทพกรีฑา

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม...

28 February, 2024

นิว ซี-สแควร์ สวนหลวง สเตชั่น

ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านมาพบกับโครงการคอนโดพร้อมอ...

30 January, 2024

ริธึ่ม เจริญนคร ไอคอนิค

วันนี้จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคอนโดมิเนียมสุดฮอตชื่อโ...

29 January, 2024

วิสซ์ดอม คราฟท์ สามย่าน

Whizdom Craftz Samyan คือโครงการที่มอบ 5 องค์ประกอบพ...

4 December, 2023

สอบถามโครงการ

ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณอย่างยิ่งที่สนใจครับ
จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปนะครับ

ขออภัย
ไม่สามารถส่งข้อมูลได้
กรุณาลองใหม่อีกครั้ง